เรียน แอดมิน ขอสอบถามและขอคำแนะนำดังนี้ค่ะ
1. การขอทำลายส่วนสูญเสีย (นอกสูตร) ที่มีมูลค่าเชิงพานิชย์ บริษัทต้องขออนุมัติทำลายโดยวิธีการใด และต้องดำเนินการอย่างไรบ้างคะ
2. บริษัทที่เข้ามารับทำลายส่วนสูญเสียฯ ต่อจากบริษัท third party จำเป็นหรือไม่ว่าจะต้องเป็นบริษัทฯ ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานฯ (BOI)
3. ในกรณีที่ส่วนสูญเสียฯ (มีมูลค่าเชิงพานิชย์) การกำหนดราคาสินค้า ต้องกำหนดก่อน หรือ หลังจากการทำลายคะ
ตอบคำถามตามนี้ครับ
1. วิธีการทำลายส่วนสูญเสียนอกสูตร ขึ้นอยู่กับลักษณะของส่วนสูญเสียนั้นๆ เช่น ส่วนสูญเสียบางชนิดอาจใช้วิธีทุบ บด อัด ให้เสียสภาพ หรือบางชนิดใช้การตัดให้เป็นชิ้นๆ หรือบางชนิดใช้วิธีเผา เป็นต้น
การยื่นขออนุมัติวิธีทำลาย ให้ยื่นแบบฟอร์มตาม Link
2. บริษัทผู้ทำลาย จะเป็นบริษัทใดก็ได้ หรือจะเป็นบริษัทที่ได้รับส่งเสริมรายนั้นเองก็ได้ (แต่ขึ้นอยู่กับวิธีการทำลายด้วย)
เช่น หากทำลายโดยวิธีทุบ บด อัด บริษัทที่ได้รับส่งเสริมอาจเช่าเครื่องมือจากภายนอก มาทุบ บด อัด ส่วนสูญเสีย ให้เสืยสภาพเองก็ได้
Third Party (บริษัทที่ได้รับมอบหมายจาก BOI) มีหน้าที่ตรวจสอบรับรองชนิด/ปริมาณของส่วนสูญเสีย และรับรองว่าได้มีการทำลายจริงตามวิธีที่ BOI อนุมัติ
3. คำว่า "ราคาสินค้า" ที่สอบถาม หมายถึงอะไร / หมายถึงราคาสินค้าตามบัตรส่งเสริม หรือราคาเศษซากหลังการทำลาย ครับ
ขอบคุณค่ะ แอดมิน
1. สำหรับ ข้อที่ 3 ราคาสินค้า หมายถึง ราคาของเศษซากหลังการทำลายค่ะ
2. ขอสอบถามเพิ่มเติมค่ะ > สำหรับส่วนสูญเสียนอกสูตร (ที่มีมูลค่าเชิงพานิชย์) บริษัทต้องยื่นขอชำระภาษีฯ ด้วยใช่หรือไม่คะ และต้องดำเนินการเมื่อไรคะ
2. เมื่อทำลายส่วนสูญเสียนอกสูตรเป็นเศษซาก ตามวิธีทำลายที่ได้รับอนุญาตแล้ว
- หากเศษซาก ไม่มีมูลค่าเชิงพาณิชย์ สามารถยื่นขออนุมัติตัดบัญชีต่อ BOI และยื่นปรับยอดวัตถุดิบต่อ IC
- หากเศษซาก มีมูลค่าเชิงพาณิชย์ ต้องยื่นขออนุมัติตัดบัญชีแบบมีภาระภาษีต่อ BOI จากนั้น จึงยื่นชำระภาษีต่อกรมศุลกากร แล้วจึงยื่นปรับยอดวัตถุดิบต่อ IC
3. เศษซากที่มีมูลค่าเชิงพาณิชย์ จะต้องยื่นชำระภาษีต่อกรมศุลกากรให้เสร็จสิ้นก่อน จึงจะจำหน่ายได้ ครับ
ตามประกาศ BOI
ส่วนสูญเสียนอกสูตร หมายถึงวัตถุดิบทั้งก่อนและหลังการผลิต ที่ไม่สามารถจำหน่ายเป็นสินค้าตามโครงการที่ได้รับส่งเสริม
เศษซาก หมายถึงส่วนสูญเสียที่ผ่านการทำลายตามวิธีที่ได้รับอนุญาตแล้ว (แต่ส่วนสูญเสียในสูตร ถือเป็นเศษซากแล้ว ไม่ต้องนำมาทำลายอีก)
ถ้าใช้คำพูดตามนี้ จะช่วยให้สื่อสารกับ BOI ได้ถูกต้องชัดเจน ครับ
ขอบคุณมากค่ะ สำหรับคำแนะนำ
เรียน แอดมิน
ขอสอบถามดังนี้ค่ะ : บริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
3. ในการผลิตผลิตภัณฑ์ บริษัทใช้วัตถุดิบซึ่งเป็นกาว ในกระบวนการผลิต เช่น RESISTIVE PASTEและใช้กระดาษทิชชูเช็ดกาวที่แผ่นวัตถุดิบที่ผ่านกระบวนการผลิตแล้วไม่ได้ตามมาตรฐานที่บริษัทกำหนดออก อยากทราบว่าเวลาที่เราขออนุมัติ (ทำลาย) ส่วนสูญเสียในเอกสารฯ ช่อง > ชนิดของส่วนสูญเสีย..... บริษัทจะใช้ชื่อว่าอะไรคะ “ทิชชู่เปื้อนกาว” หรือ ชื่อกาวที่เป็นวัตถุดิบ เช่น “ RESISTIVE PASTE ”
4. ในการทำลายส่วนสูญเสีย (นอกสูตร) ในข้อที่ 3 > ทำลายทิชชู่เปื้อนกาว โดยวิธีการ ฝังกลบ , คัดแยก , หลอม บริษัท Inspector จะต้องไปดูหน้างานที่บริษัท Vendor ที่บริษัทจ้างมานำส่วนสูญเสียฯ ไปทำลายหรือไม่ หรือดูแค่หน้างานตอนที่คัดแยกส่วนสูญเสียฯ ก่อนออกจากบริษัทฯ
ขอบคุณค่ะ
ตอบคำถามดังนี้
1. กรณีส่งออกส่วนสูญเสียไปต่างประเทศ
1.1 หากส่วนสูญเสีย อยู่ในสภาพเศษวัตถุดิบ เช่น เศษพลาสติก เศษโลหะ ไม่ต้องให้ Inspetcor ตรวจสอบรับรองชนิดและปริมาณ
เนื่องจากสามารถตรวจสอบได้จากใบขนสินค้าออกโดยตรง เช่น SCAPT PLASTIC (ABS) 1,000 KGM เป็นต้น
1.2 หากส่วนสูญเสียอยู่ในสภาพ Semi Parts ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้จากใบขนสินค้าขาออก
จะต้องให้ Inspector ตรวจรับรับรองชนิด/ปริมาณของวัตถุดิบ ที่กลายมาเป็นส่วนสูญเสียนั้นๆ
เช่น SCRAP HARNESS ASSY 100 KGM ต้องให้ Inspector ตรวจสอบรับรองว่าใช้วัตถุดิบรายการใด ปริมาณเท่าใด
2. การส่งส่วนสูญเสีย (ขยะอุตสาหกรรม) ไปต่างประเทศ
ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
แอดมินให้คำแนะนำได้เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบของ BOI เท่านั้น
3. ควรระบุให้ตรงตามสภาพของส่วนสูญเสียนั้นๆ
เช่นในกรณีที่สอบถาม ควรเป็นทิชชู่เปื้อนกาว ไม่ใช่กาว
4. Inspector ได้รับมอบหมายจาก BOI ให้ตรวจสอบชนิดและปริมาณของส่วนสูญเสีย และตรวจสอบการทำลายให้เป็นไปตามขั้นตอนที่ BOI อนุญาต จากนั้นจึงออกหนังสือรับรอง
ในกรณีที่ Inspector ไม่สามารถเข้าร่วมตรวจสอบการทำลาย เช่น การเผา การฝังกลบ ฯลฯ
Inspector จะออกหนังสือรับรอง เช่น ทำลายโดยการส่งมอบให้บริษัท ABC นำไปฝังกลบ
จากนั้น บริษัทผู้ได้รับส่งเสริม จะต้องขอหนังสือรับรองการทำลาย/กำจัดโดยการฝังกลบ จากบริษัท ABC มาใช้เป็นหลักฐานร่วมกับหนังสือรับรองจาก Inspector เพื่อยื่นต่อ BOI ครับ
ขอบคุณมากค่ะ
เรียน แอดมิน ขอสอบถาม เรื่องส่วนสูญเสียนอกสูตรเพื่อความชัดเจนค่ะ
ยกตัวอย่าง บริษัทมีส่วนผสมของวัตถุดิบที่ไม่สามารถนำมาใช้งานได้แล้ว ส่วนผสมนี้จะประกอบไปด้วยวัตถุดิบที่นำเข้าและซื้อในประเทศ ซึ่งเป็นส่วนผสมที่จะนำมาทำเป็นงานสำเร็จรูป
ดังนั้นเมื่อบริษัทจะแจ้งผู้รับกำจัดมาขนวัตถุดิบเหล่านี้ออกไป บริษัทจะต้องขออนุมัติ BOI หรือไม่คะ
(ข้อ 5.3) บริษัทต้องจัดเก็บส่วนสูญเสียหรือเศษซาก ที่เกิดจากวัตถุดิบที่นำเข้าโดยใช้สิทธิมาตรา 36 เพื่อให้สำนักงานหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ
(ข้อ 6) หลังจากที่ได้รับอนุมัติให้ทำลาย ส่งออก หรือบริจาคแล้ว จึงจะดำเนินการตามที่ได้รับอนุญาต แล้วจึงดำเนินการตัดบัญชี
(ข้อ 9.3) เศษซากที่มีมูลค่าเชิงพาณิชย์ จะต้องชำระภาษีตามสภาพก่อน จึงจะดำเนินการตัดบัญชีได้
การนำส่วนสูญเสียและเศษซาก ไปเก็บนอกสถานที่ ต้องได้รับอนุญาตจาก BOI ก่อน
โดยเฉพาะเศษซากที่มีมูลค่าเชิงพาณิชย์ จนท ศุลกากร ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ จะทำการตรวจสอบเพื่อประเมินภาษีอากร
หากสถานที่จัดเก็บ ไม่อยู่ในสถานประกอบการ และไม่ได้รับอนุญาตจาก BOI ก่อน จะเกิดปัญหาในส่วนนี้ด้วย
ตอบคำถามดังนี้
หากบริษัทมีส่วนสูญเสียนอกสูตร และต้องการตัดบัญชี ต้องดำเนินการตามประกาศข้างต้น
แต่หากดำเนินการกำจัดไปแล้ว จะไม่อยู่ในข่ายที่จะอนุมัติย้อนหลัง และไม่สามารถตัดบัญชีได้
ปริมาณของวัตถุดิบที่กลายสภาพเป็นส่วนสูญเสียดังกล่าว จะยังคงค้างอยู่ในบัญชีปริมาณสต็อกวัตถุดิบ และจะมีภาระภาษีตามสภาพ ณ วันนำเข้า
หรือกรณีที่ร้ายแรงที่สุด หากกรมศุลฯ ตรวจพบ อาจเข้าข่ายนำวัตถุดิบตามมาตรา 36 ไปจำหน่ายในประเทศ จะมีทั้งค่าปรับ เงินเพิ่ม ด้วยครับ
เรียน แอดมิน
ขอบคุณสำหรับคำตอบและคำแนะนำค่ะ
รบกวนขอสอบถามเพิ่มเติมดังนี้ค่ะ หากส่วนสูญเสีย (นอกสูตร) ดังกล่าวข้างต้นทั้งมีมูลค่าเชิงพาณิชย์และไม่มีมูลค่าเชิงพาณิชย์
หากบริษัทไม่ต้องการนำมาปรับยอด และตัดบัญชีวัตถุดิบ บริษัทจะต้องขออนุญาตจาก BOI หรือไม่คะ
กรณีที่สอบถามนี้ การจะตัดบัญชีหรือปรับยอดหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นปัญหา
หากบริษัทไม่ตัดบัญชีหรือปรับยอด จะมียอดค้างคงเหลือในบัญชีวัตถุดิบ
ซึ่งเมื่อสิ้นสุดสิทธิมาตรา 36 จะมีภาษีตามสภาพ ณ วันนำเข้า
ประเด็นปัญหาคือ มีการนำวัตถุดิบที่นำเข้าโดยใช้สิทธิมาตรา 36 ไปจำหน่ายจ่ายโอน ฯลฯ โดยไม่ได้ผลิตเป็นสินค้าและส่งออก หรือไม่
หากมี จะผิดเงื่อนไขการใช้สิทธิ
ดังนั้น เมื่อเกิดส่วนสูญเสียที่ไม่สามารถนำไปใช้เป็นผลิตเพื่อส่งออก ต้องขออนุญาตจัดการส่วนสูญเสียนั้นให้ถูกต้องตามประกาศ BOI
จากนั้นจึงจะจำหน่ายจ่ายโอนได้
หลังจากดำเนินการถูกต้องตามเงื่อนไขแล้ว จะนำหลักฐานมาตัดบัญชีปรับยอดหรือไม่ ก็เป็นสิทธิของบริษัทครับ
(หากดำเนินการถูกต้องแล้ว แต่ไม่ขอตัดบัญชี ก็จะมียอดค้างคงเหลือในบัญชี และยังมีภาระภาษีค้างอยู่ครับ)
เรียน แอดมิน ขอบคุณมากค่ะ
เรียน แอดมิน
ตามที่ได้เคยสอบถามไปแล้ว ตามด้านล่าง
ในการผลิตผลิตภัณฑ์ บริษัทใช้วัตถุดิบซึ่งเป็นกาว ในกระบวนการผลิต เช่น RESISTIVE PASTEและใช้กระดาษทิชชูเช็ดกาวที่แผ่นวัตถุดิบที่ผ่านกระบวนการผลิตแล้วไม่ได้ตามมาตรฐานที่บริษัทกำหนดออก อยากทราบว่าเวลาที่เราขออนุมัติ (ทำลาย) ส่วนสูญเสียในเอกสารฯ ช่อง > ชนิดของส่วนสูญเสีย..... บริษัทจะใช้ชื่อว่าอะไรคะ “ทิชชู่เปื้อนกาว” หรือ ชื่อกาวที่เป็นวัตถุดิบ เช่น “ RESISTIVE PASTE ”
และตำตอบ คือ ควรระบุให้ตรงตามสภาพของส่วนสูญเสียนั้นๆ เช่น ในกรณีที่สอบถาม ควรเป็นทิชชู่เปื้อนกาว ไม่ใช่กาว
รบกวนขอสอบถามเพิ่มเติมค่ะ ถ้าบริษัทจะยื่นเรื่อง ขอทำลายส่วนสูญเสีย ในใบสรุปรายการส่วนสูญเสีย ถ้ามีกาวหลายๆ ชนิด เช่น CONDUCTIVE PASTE , RESISTIVE PASTE , DIELECTRIC PASTE
เป็นต้น ในตารางบริษัทจะต้องใส่ข้อมูลอย่างไรคะ > ใสชื่อกาวตามข้างต้น เช่น RESISTIVE PASTE หรือ ใส่ ทิชชู่เปื้อนกาว (RESISTIVE PASTE) รบกวนขอคำแนะนำค่ะ
รายการที่ | ชนิดของส่วนสูญเสียตามสภาพวัตถุดิบ |
000001 | CONDUCTIVE PASTE หรือ ทิชชู่เปื้อนกาว (CONDUCTIVE PASTE) |
000014 | DIELECTRIC PASTE หรือ ........................................... |
000015 | RESISTIVE PASTE หรือ ...................................... |
000016 | MARKING INK หรือ .......................... |
ตอบคำถามดังนี้ครับ
1. เนื่องจากวัตถุดิบที่นำเข้าโดยใช้สิทธิคือ กาว
แต่เมื่อเกิดเป็นส่วนสูญเสียนอกสูตร ใช้ทิชชู่เช็ด เป็นทิชชู่เปื้อนกาว
การขออนุมัติวิธีทำลาย ให้ขออนุมัติเป็นการทำลายกาว
โดยระบุหมายเหตุว่า เป็นส่วนสูญเสียที่อยู่ในสภาพของทิชชู่เปื้อนกาว
จะเข้าใจได้สะดวกกว่า ทั้งสำหรับ BOI ผู้อนุมัติ และ Inspector ผู้ตรวจสอบ
2. กรณีเป็นกาวที่เยิ้ม ในขั้นตอนการติดชิ้นงาน
อาจถือเป็นส่วนสูญเสียในสูตรได้
เพราะการเยิ้ม ปกติจะต้องเกิดขึ้นทุกครั้ง ในปริมาณที่ค่อนข้างคงที่
หากจะถือเป็นส่วนสูญเสียนอกสูตร จะค่อนข้างลำบาก ในการพิสูจน์ปริมาณ
ควรปรึกษากับ จนท เพื่อให้รวมพิจารณาเป็นส่วนสูญเสียในสูตร
3. กาวที่หมดอายุ ที่ยังอยู่ในหลอด ฯลฯ เป็นส่วนสูญเสียนอกสูตรตามสภาพอยู่แล้ว
ส่วนนี้ไม่มีปัญหาอะไร
4. กาวที่เสียอื่นๆ นอกเหนือจากข้อ 2-3
เช่น ไหลติดบนโต๊ะงาน ชิ้นงาน ฯ จากความผิดพลาดอื่นๆ
ตามความเห็นส่วนตัว ควรตัดทิ้งไป ไม่นำรวมมานับเป็นส่วนสูญเสียนอกสูตร
เพราะจะเกิดปัญหาการจับเก็บ และพิสูจน์ปริมาณ
5. กรณีกาวมีหลาย group no ตามที่สอบถาม และตามคำตอบที่ 1
ให้แยกยื่นขออนุมัติวิธีทำลายตามแต่ละ group no (แม้ว่าจะใช้วิธีทำลายเดียวกัน)
เพื่อความสะดวกในขั้นตอนต่อไปในการตัดบัญชี ครับ
ขอบคุณมากค่ะ
เรียน แอดมิน บริษัทขอสอบถามเพิ่มเติมดังนี้ค่ะ
จากคำตอบข้อที่ 4 > กาวที่เสียอื่นๆ นอกเหนือจากข้อ 2-3.......
บริษัทอยากทราบว่า การตัดทิ้งไม่นำมานับรวม แต่มีเศษซากเกิดขึ้นโดยเรียกว่าเป็น "ทิชชู่เปื้อนกาว" ถ้าบริษัทจะขาย หรือ ทำลาย
แบบนี้ต้องแจ้ง BOI หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อทำการขออนุมัติหรือไม่คะ
จากคำตอบข้อที่ 4 > กาวที่เสียอื่นๆ นอกเหนือจากข้อ 2-3.......
ตอบตามหลักการคือ "ทิชชู่เปื้อนกาว" จะมี "กาว" ที่เป็นวัตถุดิบที่นำเข้าโดยยกเว้นภาษีรวมอยู่ด้วย
หากบริษัทสละสิทธิที่จะไม่นำมาตัดบัญชีในข่ายส่วนสูญเสียนอกสูตร เนื่องจากเป็นภาระภาษีในการแยกจัดเก็บและพิสูจน์ปริมาณ ฯลฯ
จะต้องขอชำระภาษีตามสภาพ ณ วันนำเข้า ตามปริมาณที่บริษัทคำนวณว่าติดไปกับทิชชู่
และเมื่อชำระภาษีแล้ว จะจัดการทิชชู่เปื้อนกาวนั้นอย่างไรต่อก็ได้ (เท่าที่ไม่ขัดกับกฎหมายอื่น) โดยไม่ต้องขออนุญาตจาก BOI ครับ
ขอบคุณค่ะ รบกวนขอสอบถามเพิ่มเติมค่ะ
หากบริษัท จะต้องขอชำระภาษีตามสภาพ ณ วันนำเข้า ตามปริมาณที่บริษัทคำนวณว่าติดไปกับทิชชู่.....
บริษัทจะต้องยื่นชอชำระภาษีฯ กับหน่วยงานไหน และใช้เอกสารอะไรในการยื่นบ้างคะ
รบกวนขอคำแนะนำค่ะ ขอบคุณค่ะ
การขอชำระภาษีวัตถุดิบที่ไม่ได้ใช้ผลิตส่งออก
ให้ยื่นขออนุมัติต่อ BOI
จากนั้น BOI จะมีหนังสือถึงกรมศุล แจ้งให้เรียกเก็บภาษี และมีหนังสือถึงบริษัท แจ้งให้ไปชำระภาษี
เมื่อชำระภาษีเสร็จสิ้นแล้ว บริษัทจะนำวัตถุดิบส่วนนั้นไปจัดการอย่างไรก็ได้ (เช่น ขาย ทำลาย ฯ)
เอกสารที่ต้องยื่นต่อ BOI ประกอบด้วย
1. หนังสือบริษัท เรื่อง ขออนุมัติชำระอากรขาเข้าวัตถุดิบ (ไม่มีแบบฟอร์ม ร่างขึ้นได้เอง)
2. ใบสรุปรายการวัตถุดิบที่ไม่ได้ใช้ผลิตส่งออก (ไม่เป็นเอกสารบังคับ ไม่มีแบบฟอร์ม แต่อาจเตรียมเพิ่มเติมด้วยเพื่อความสะดวก)
สรุปข้อมูลที่จำเป็น เช่น วัตถุดิบที่ขอชำระภาษี จำนวน หน่วยวัตถุดิบ เลขที่/วันที่หนังสืออนุมัติสั่งปล่อย และเลขที่ใบขนขาเข้า เป็นต้น
3. บัญชีรายการวัตถุดิบและวัสดุจําเป็นที่ไม่ผลิตเพื่อส่งออก (F IN RM 35) หน้า 2 จำนวน 3 แผ่น
4. บัญชีรายการวัตถุดิบที่ให้ชําระอากรขาเข้าตามสภาพ ณ วันนำเข้า (F IN RM 35) หน้า 3 จำนวน 3 แผ่น
5. สำเนาหนังสืออนุมัติสั่งปล่อย (เช่น ภาพแคปหน้าจอ บนระบบ RMTS online ที่แสดงเลข นร อนุมัติ)
6. รายการวัตถุดิบสั่งปล่อย ที่ขอชำระภาษี (เช่น ภาพแคปหน้าจอ ที่แสดงรายการ/ปริมาณวัตถุดิบที่อนุมัติ โดยอาจ hilight รายการที่ขอชำระภาษีให้ชัดเจน)
7. ใบขนสินค้าขาเข้า ที่แสดงเลข นร ใช้สิทธิ (หากในใบขน มีวัตถุดิบหลายรายการ อาจ hilight นร ของวัตถุดิบที่ขอชำระภาษี ให้ชัดเจน)
8. สำเนาอินวอยซ์
9. เอกสารหลักฐานที่ใช้ประกอบการพิจารณาการใช้สิทธิและประโยชน์วัตถุดิบ (F IN RM 01) เลือกติ๊กที่ข้อ 10.1
10. แบบฟอร์มพิจารณาของ จนท (F IN RM 35) หน้า 1
11. หนังสือแจ้งกรมศุลกากรให้เรียกเก็บภาษี (F IN RM 43) และสำเนา 2 ชุด
12. หนังสือแจ้งบริษัทให้ชำระภาษี (F IN RM 44) และสำเนา 2 ชุด
ตามหลัก BOI จะต้องเป็นผู้จัดทำเอกสาร 10-12 ขึ้นเอง
แต่บริษัทมักจะจัดเตรียมไปพร้อมกันด้วย เพื่อความสะดวกรวดเร็วของบริษัท
หากบริษัทจะจัดเตรียมเอกสาร 10-12
ควรติดต่อธุรการกอง เพื่อขอคำปรึกษาข้อกำหนดของเอกสาร เช่น
ฟ้อนต์ ขนาด การเว้นระยะขอบ ตำแหน่งเริ่มต้นข้อความ ข้อมูลที่ต้อง update ให้เป็นปัจจุบัน เช่น ชื่อกอง เลขที่หนังสือ เบอร์โทร ฯลฯ
เพื่อให้จัดเตรียมได้ถูกต้อง ครับ