หากเครื่องจักรที่เคยใช้ในโครงการที่ได้รับการส่งเสริม และทำการจำหน่ายโดยชำระภาษีแล้ว คำถามคือ
1. เครื่องจักรนั้นถือว่าไม่ได้เป็นเครื่องจักรของโครงการที่ได้รับการส่งเสริม (NON BOI) แล้วใช่หรือไม่ค่ะ
2. สามารถนำเครื่องจักรนั้นมาใช้ผลิตสินค้าที่ขายในประเทศหรือส่งออกก็ได้ ใช่หรือไม่ค่ะ
เครื่องจักรที่นำเข้าโดยใช้สิทธิมาตรา 28 ซึ่งต่อมาได้ยื่นขอจำหน่าย และชำระภาษีอากรเสร็จสิ้นแล้ว (แต่ไม่ได้มีการจำหน่ายออกไปจริง)
มีสถานะเท่ากับเครื่องจักรที่นำเข้ามาโดยไม่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีอากรจาก BOI
1.หากจะยังคงใช้ผลิตสินค้าตามโครงการที่ได้รับส่งเสริม ก็สามารถทำได้ โดยจะนับรวมเป็นเครื่องจักรในโครงการ เพื่อนับกำลังผลิตและมูลค่าการลงทุน
2.หรือหากจะนำไปผลิตสินค้าอื่นที่ไม่ได้รับส่งเสริม ก็สามารถทำได้ แต่ให้แยกบัญชีรายรับรายจ่ายของสินค้าตามโครงการที่ได้รับส่งเสริมและไม่ได้รับส่งเสริม และจะต้องไม่ใช้เครื่องจักรอื่นที่นำเข้าโดยใช้สิทธิมาตรา 28 ไปร่วมในการผลิตสินค้าที่ไม่ได้รับส่งเสริมนั้น ครับ
หากบริษัทต้องการขายเครื่องจักร แม่พิมพ์ อะไหล่ สำหรับบางเครื่องที่ไม่ได้ใช้งานต้องการขายให้กับภายในประเทศ อาจเป็นพวกรับซื้อของเก่า หรือรับซื้อของมือสอง
และได้ตัดบัญชีเครื่องจักรเกิน 5 ปีเรียบร้อยแล้ว
สอบถามค่ะ
ทางบริษัทสามารถทำเรื่องขอจำหน่ายและขายให้ภายในประเทศได้หรือไม่คะ หรือจำเป็นต้องเป็นบริษัทที่รับซื้อต้องมีใบอนุญาตทาง boi หรือไม่คะ
การอนุญาตให้ตัดบัญชีเครื่องจักรที่นำเข้ามาครบ 5 ปี จะมีเงื่อนไขต้องใช้เครื่องจักรดังกล่าวในโครงการต่อไป
หากบริษัทต้องการจำหน่ายเครื่องจักรนั้นในประเทศ สามารถยื่นขอจำหน่ายเครื่องจักรออกจากโครงการได้ โดยจะจำหน่ายให้กับบริษัทใดก็ได้ ครับ
เครื่องจักรที่นำเข้ามาโดยใช้สิทธิประโยชน์ BOI หากทำการตัดบัญชีและขออนุญาตจำหน่ายเครื่องจักรนำเข้าเกิน 5 ปีโดยไม่มีภาระภาษีเรียบร้อยแล้ว การขายหรือจำหน่ายสามารถขายเป็นเศษซากกับบริษัทที่รับซื้อทั่วไปได้เลยหรือเปล่าคะ หรือบริษัทที่รับซื้อจะต้องเป็นบริษัทที่ได้รับการรับรองจาก BOI แล้วต้องมีการยื่นขอทำลายก่อน
กรณีได้รับอนุญาตจำหน่ายเครื่องจักรออกจากโครงการ โดยไม่มีภาระภาษี ตาม ประกาศ สกท ที่ ป.7/2559 ข้อ 12.1
บริษัทจะต้องตัดเครื่องจักรดังกล่าวออกจากบัญชีสินทรัพย์ของโครงการนั้น และต้องไม่ใช้เครื่องจักรดังกล่าวในโครงการนั้นอีกต่อไป
จากนั้นจะนำเครื่องจักรดังกล่าวจะไปจำหน่าย ส่งออก บริจาค ทำลาย อย่างใดก็ได้ โดยไม่ต้องขอนุญาตใดๆจาก BOI ครับ
สอบถามค่ะ
ยื่นจำหน่ายเครื่องจักรออกจากโครงการ กรณีอนุมัติแล้วจะมีหนังสือครุตแจ้งไหมคะ แล้วรายการจะถูกตัดออกจากบัญชีรายชื่อด้วยใช่ไหมคะ
ระบบ eMT จะแยกเก็บข้อมูลการนำเข้าเครื่องจักร กับข้อมูลการจำหน่ายเครื่องจักร โดยไม่มีการนำมาหักลบกัน
ดังนั้น รายการเครื่องใช้ที่นำเข้าโดยใช้สิทธิ จะปรากฎอยู่ในรายงานการใช้สิทธิตลอดไป แม้ว่าจะได้รับอนุญาตให้จำหน่าย โอน บริจาค ออกไปจากโครงการแล้วก็ตาม
ในขั้นเปิดดำเนินการ จึงต้องนำทั้ง 2 บัญชี คือที่ใช้สิทธินำเข้า กับที่ได้จำหน่ายออกจากโครงการ มาเปรียบเทียบกันแบบ Manual
ปัจจุบัน การขอจำหน่ายเครื่องจักรออกจากโครงการ และงานอื่นๆ ที่ระบุใน ประกาศ สกท ที่ ป.7/2559 เป็นการอนุมัติบนระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะไม่มีการออกเป็นหนังสืออนุมัติ ครับ
เรียน แอดมิน
รบกวนขอสอบถามค่ะ บริษัทมีเครื่องจักรที่มีอายุการใช้งานเกิน 5 ปี (อายุการใช้งานประมาณ 20 กว่าปี)
* บริษัทต้องการถอดชิ้นส่วนเพื่อจำหน่าย บริษัทจะต้องยื่นเรื่องในระบบ eMT อย่างไรคะ รบกวนขอคำแนะนำค่ะ ขอบคุณค่ะ
กรณีเป็นเครื่องจักรที่นำเข้าโดยใช้สิทธิยกเว้นภาษีอากรจาก BOI
การจะจำหน่ายทั้งตัวเครื่องจักร หรือส่วนประกอบของเครื่อง จะต้องได้รับอนุญาตจาก BOI ก่อน
กรณีที่สอบถาม เป็นเครื่องจักรที่นำเข้ามาเกิน 5 ปี ซึ่งเข้าใจว่าไม่ได้ใช้ในโครงการ คือไม่กระทบกับกำลังผลิตและกรรมวิธีการผลิตตามที่ได้รับส่งเสริมแล้ว
จึงควรยื่นขอจำหน่ายเครื่องจักร (จำหน่ายออกจากโครงการ)
หลังจากได้รับอนุญาตจาก BOI แล้ว บริษัทจะนำไปทำลาย หรือถอดแยกชิ้นจำหน่ายอย่างไรก็ได้ โดยไม่ต้องแจ้งหรือขออนุญาตจาก BOI อีก ครับ
ขอบคุณมากค่ะ
แอดมินคะ ขอสอบถามเพิ่มเติมค่ะ
*ในกรณีที่ถามไป บริษัทจะต้องยื่นเรื่องในระบบ eMT ในหัวข้อ
1. ขออนุญาตจำหน่ายเครื่องจักร (นอกระบบไม่มีภาระภาษี) หรือ ตัดบัญชีเครื่องจักรนำเข้าเกิน 5 ปี (นอกระบบ) คะ
2. ถ้าต้องแนบไฟล์ใบขนสินค้าขาเข้าด้วย แต่บริษัทไม่สามารถหาใบขนสินค้าขาเข้าได้ บริษัทฯ จะต้องทำอย่างไรคะ (เพราะเครื่องจักรเข้ามาอายุเกิน 20 ปี เอกสารไม่น่าจะมีเก็บไว้แล้ว)
ขอบคุณค่ะ
1) การขอจำหน่าย คือ การจำหน่ายออกจากโครงการ ... คือบริษัทจะตัดเครื่องจักรดังกล่าวออกจากทะเบียนสินทรัพย์ของโครงการนั้น แล้วจะนำไปจำหน่าย ทำลาย ส่งออก บริจาค อย่างไรก็ได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตจาก BOI
2) การขอตัดบัญชี คือ การตัดภาระภาษีของเครื่องจักรที่นำเข้ามาเกินกว่า 5 ปี เพื่อเป็นเครื่องจักรดังกล่าวจะไม่ถูกเรียกเก็บภาษีในภายหลัง แต่ทั้งนี้ ยังคงต้องใช้เครื่องจักรดังกล่าวในโครงการที่ได้รับส่งเสริมนั้นต่อไป จนกว่าจะขออนุญาตจำหน่าย ทำลาย ส่งคืน หรือบริจาค
ตอบคำถามดังนี้
1. กรณีที่สอบถาม บริษัทต้องการถอดแยกชิ้นส่วนของเครื่องจักรที่นำเข้าเกิน 20 ปี เพื่อนำไปจำหน่าย โดยจะไม่ใช้เครื่องจักรในโครงการที่ได้รับส่งเสริมอีกต่อไป จึงต้องยื่นเรื่องเป็นการขอจำหน่าย
2. BOI จำเป็นต้องตรวจสอบว่า เครื่องจักรที่ยื่นขออนุญาตจำหน่าย เป็นเครื่องจักรที่นำเข้ามาโดยใช้สิทธิยกเว้นภาษีอากรตามมาตรา 28, 29 ของ พรบ.ส่งเสริมการลงทุน หรือไม่ / หากไม่ใช่ BOI ก็ไม่มีอำนาจในการอนุมัติให้จำหน่ายหรือไม่จำหน่ายเครื่องจักรดังกล่าว
จึงจำเป็นต้องมีหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อประกอบการพิจารณา เช่น สำเนาใบขนขาเข้า หรือสำเนาหนังสืออนุมัติสั่งปล่อย เป็นต้น
เบื้องต้น อาจสอบถามกับสมาคม IC ว่ายังมีข้อมูลอนุมัติสั่งปล่อยในระบบเก่า (MCTS) หรือไม่
หากไม่มี อาจต้องติดต่อกับ จนท BOI ที่รับผิดชอบโครงการของบริษัท เพื่อหารือวิธีดำเนินการ ครับ
ขอบคุณมากค่ะ
เรียน Admin ขออนุญาตสอบถามค่ะ ถ้าเรานำเข้าอะไหล่ของเครื่องจักรมาใช้งานเป็นเวลา6ปีแล้ว และเกิดการเสียไม่สามารถใช้งานต่อได้อีก บริษัทจะทำการขออนุญาตจำหน่ายแบบไม่มีภาระภาษีได้ใช่ไหมคะ? ถ้าสามารถทำได้ หลังจากได้รับอนุมัติจากสำนักงานแล้ว เราสามารถนำอะไหล่ชิ้นดังกล่าวไปทิ้งตามกระบวนการของบริษัทต่อไปได้หรือไม่คะ และต้องให้หลักฐานการทิ้งต่อสำนักงานหรือไม่คะ?
กรณีบริษัทนำเข้าเครื่องจักร (แม่พิมพ์ อะไหล่ ฯลฯ) เข้ามาเกินกว่า 5 ปี และประสงค์จะจำหน่ายออกจากโครงการ
บริษัทสามารถยื่นขอจำหน่ายโดยไม่มีภาระภาษี
ซึ่งเมื่อได้รับอนุมัติแล้ว จะนำไปจำหน่ายเป็นเศษเหล็ก หรือทำลาย หรือจัดการอย่างใดก็ได้ โดยไม่ต้องแจ้งขออนุญาตจาก BOI และไม่ต้องยื่นหลักฐานในการจำหน่ายต่อ BOI เพียงแต่จะต้องตัดรายการนั้นออกจากทะเบียนสินทรัพย์ของโครงการที่ได้รับส่งเสริมนั้น ครับ