เรียน Admin รบกวนสอบถามหน่อยนะคะ โครงการเปิดดำเนินการแล้วต่อมาพบว่าเครื่องจักรหลักบางส่วนชำรุดเสียหาย และไม่ได้ซื้อเครื่องใหม่เข้ามาทดแทนทำให้โดยรวมแล้วโครงการมีกำลังการผลิตลดลง กรณีนี้บริษัทจะต้องแก้ไขโครงการหรือไม่คะ
กรณีได้รับอนุญาตเปิดดำเนินการเต็มโครงการแล้ว แต่ต่อมาเครื่องจักรชำรุดเสียหายหรือหมดอายุการใช้งาน และบริษัทจะจำหน่ายเครื่องจักรดังกล่าว โดยไม่ซื้อเครื่องจักรใหม่มาทดแทน
1.กรณีเป็นเครื่องจักรหลัก ซึ่งมีผลกระทบกับกำลังผลิตของโครงการ
- หากทำให้กำลังผลิตลดลงมากกว่า 20% ของกำลังผลิตที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริม จะต้องแก้ไขโครงการเพื่อลดขนาดกิจการ และจะถูกปรับลดวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้ที่เคยกำหนดไว้เดิม
- หากทำให้กำลังผลิตลดลงแต่ไม่เกินกว่า 20% ของกำลังผลิตที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริม ไม่ต้องแก้ไขโครงการเพื่อลดขนาดกิจการ และจะไม่ถูกปรับลดวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้ที่เคยกำหนดไว้เดิม
2.กรณีไม่ใช่เครื่องจักรหลัก ซึ่งไม่มีผลกระทบกับกำลังผลิตของโครงการ
- สามารถขอจำหน่ายเครื่องจักรได้ โดยไม่ต้องแก้ไขโครงการ และจะไม่ถูกปรับลดวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้ที่เคยกำหนดไว้เดิม ครับ
รบกวนสอบถามเพิ่มเติมค่ะ ในกรณีที่โครงการเปิดดำเนินการแล้ว สมมุติว่าเครื่องจักรหลักของโครงการมี 10 เครื่อง ต่อมาต้องการนำเครื่องจักร 3 เครื่อง ไปเป็นเครื่องทดสอบการผลิต ซึ่งเป็นคนละที่กับที่ตั้งของโครงการ ในกรณีแบบนี้หากกำลังการผลิตลดมากกว่า 20% บริษัทก็จะต้องแก้ไขโครงการเพื่อปรับลดขนาดของโครงการใช่ไหมคะ หรือเป็นการผิดเงื่อนไขที่ต้องถูกยกเลิกเพิกถอนโครงการ
โครงการ A เปิดดำเนินการเต็มโครงการแล้ว จะย้ายเครื่องจักร 3 เครื่อง ไปยังโครงการ B เพื่อเป็นเครื่องทดสอบการผลิต
โครงการ A
1. การโอนย้ายเครื่องจักรจากโครงการ A ไปโครงการ B จะทำให้กำลังผลิตลดลงมากกว่า 20% จึงต้องขอแก้ไขโครงการเพื่อลดกำลังผลิต ตามกำลังผลิตที่เหลืออยู่จริง
2. ให้ยื่นขอจำหน่ายเครื่องจักรออกจากโครงการ ซึ่งหากนำเข้าเกินกว่า 5 ปีแล้ว จะไม่มีภาระภาษี
โครงการ B
1. การรับโอนเครื่องจักรจากโครงการ A ถือเป็นการใช้เครื่องจักรเก่าในประเทศ ซึ่งขัดกับเงื่อนไขในบัตรส่งเสริม
2. แต่หากเป็นเครื่องทดสอบการผลิต โดยไม่ได้ใช้เป็นเครื่องจักรในการผลิตผลิตภัณฑ์ของโครงการ B น่าจะอยู่ในข่ายที่สามารถใช้ได้ โดยจะต้องไม่ลงบัญชีเป็นสินทรัพย์ของโครงการ B ครับ
ถ้าผลิตลดลงมากกว่า 20% และทางบริษัทยื่นขอแก้ไขโครงการเพื่อลดขนาดกิจการ วงเงินภาษีเงินได้ที่ต้องปรับลงลง จะอ้างอิงตามมูลค่าเครื่องจักรที่หายไป หรือ ปรับลดลงโดยอ้างอิงจาก % ของกำลังการผลิตที่ปรับลงลงคะ
หากลดขนาดขนาดกิจการจากการจำหน่ายเครื่องจักร จะถูกปรับลดกำลังผลิตลงเหลือเท่าที่มีอยู่จริง และปรับลดวงเงินยกเว้นยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมูลค่าสินทรัพย์ที่จำหน่ายออกไป
โดยการปรับลดกำลังผลิตและมูลค่าวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้ ปกติจะใช้เอกสารหลักฐานและข้อมูลที่ BOI ไปตรวจสอบแล้วตอนเปิดดำเนินการ ครับ