เรียน แอดมิน
บริษัทฯ มีกรรมวิธีการผลิตที่เพิ่มขึ้น หลังเปิดดำเนินการ จะสามารถแก้ไขโครงการได้หรือไม่
หากกรรมวิธีการผลิต จากเดิมเช่น ขั้นตอนที่ 1 มีการนำวัตถุดิบเข้ามาประกอบ ต่อมาต้องการเพิ่มขั้นตอนคือ วัตถุดิบนั้นจะต้องทำการตัดแล้วประกอบ ดังนั้นขั้นตอนการตัดนี้ บริษัทฯต้องแก้ไขโครงการหรือไม่ค่ะ
ขอบคุณค่ะ
หลักเกณฑ์การแก้ไขโครงการโดยมีการลงทุนเพิ่ม เป็นไปตาม ประกาศ สกท ที่ ป.3/2547
คือ โครงการที่ได้รับอนุญาตเปิดดำเนินการเต็มโครงการแล้ว จะแก้ไขโครงการเพื่อเพิ่มกำลังผลิตของผลิตภัณฑ์เดิม หรือเพิ่มชนิดผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยมีการลงทุนเพิ่มเติม ไม่ได้
กรณีที่สอบถาม บริษัทได้รับอนุญาตเปิดดำเนินการเต็มโครงการแล้ว
แต่จะแก้ไขโครงการ เพื่อเพิ่มขั้นตอนการตัดวัตถุดิบ สำหรับใช้ในโครงการที่ได้รับส่งเสริม
1.หากเป็นกรณีที่ไม่ต้องมีการลงทุนเพิ่ม
สามารถขอแก้ไขกรรมวิธีการผลิตเพิ่มขั้นตอนการตัดวัตถุดิบได้ แม้ว่าโครงการนั้นจะเปิดดำเนินการเต็มโครงการแล้วก็ตาม
จากนั้นจึงขอแก้ไขบัญชี Max Stock และสูตรการผลิต เพื่อแก้ไข/เพิ่มรายการวัตถุดิบให้เป็นวัตถุดิบตามสภาพก่อนการตัด เพื่อให้นำเข้าวัตถุดิบตามสภาพก่อนการตัด มาใช้ในโครงการได้โดยได้รับสิทธิตามมาตรา 36
2.หากเป็นกรณีที่ต้องมีการลงทุนเพิ่ม เช่น ต้องมีการซื้อเครื่องตัด
2.1 หากการตัดวัตถุดิบ มีประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริม และมีการลงทุนเกิน 1 ล้านบาท และมีมูลค่าเพิ่มไม่ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนด สามารถยื่นขอเป็นโครงการใหม่ (โครงการขยาย) เพื่อผลิตวัตถุดิบจำหน่ายให้โครงการเดิมและลูกค้ารายอื่น
2.2 กรณีไม่เข้าข่ายข้อ 2.1 จะเป็นไปตามประกาศที่ ป.3/2547 ข้อ 4 คือ เลขาธิการ BOI จะเป็นผู้วินิจฉัย โดย BOI อาจอนุญาตให้แก้ไขโครงการโดยมีการลงทุนเพิ่ม เพื่อเพิ่มขั้นตอนการผลิตวัตถุดิบต้นน้ำ โดยเครื่องจักรที่นำเข้ามาเพิ่มเติมจะไม่ได้รับสิทธิตามมาตรา 28 และจะไม่นับรวมมูลค่าเครื่องจักรที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นขนาดการลงทุนเพื่อคำนวณวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่จะให้ได้รับสิทธิยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบที่จะนำมาตัด ตามมาตรา 36
เนื่องจากแนวทางตามคำตอบข้อ 2.2 เป็นความเห็นของแอดมิน จึงขอแนะนำให้ปรึกษากับ จนท BOI ผู้รับผิดชอบโครงการของบริษัทโดยตรง อีกครั้งหนึ่ง ครับ
เรียน แอดมิน
ได้ปรึกษาเจ้าหน้าที่ BOI แล้วค่ะ
เนื่องจากบริษัท จะเพิ่มขั้นตอนการตัดวัตถุดิบ โดยไม่มีการลงทุนเพิ่ม
ซึ่งเจ้าหน้าที่แจ้งว่าบัตรนี้ มีการเปิดดำเนินการไปแล้ว และขั้นตอนในการตัดวัตถุดิบ ไม่มีผลกระทบต่อกำลังการผลิตของโครงการ และไม่ใช่ขั้นตอนหลัก
ดังนั้นสามารถทำได้ เนื่องจากไม่มีประเด็นให้แก้ไขโครงการ และเครื่องจักรที่เป็นเครื่องตัดนี้ บริษัทฯก็ไม่ได้ใช้สิทธิ์นำเข้าภายใต้ BOI (จะนำเข้าแบบ JTEPA) เพราะหมดระยะเวลาการนำเข้าไปแล้ว รวมถึงการเปิดดำเนินการไปแล้วด้วย
ขอบคุณค่ะ
ประกาศ สกท ที่ ป.3/2547 เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติแก้ไขโครงการกรณีที่มีการลงทุนเพิ่ม
1. การลงทุนเพิ่ม คือ การลงทุนเครื่องจักร ไม่ว่าจะนำเข้าโดยได้รับสิทธิยกเว้นอากรขาเข้าตามมาตรา 28 หรือนำเข้าโดยชำระภาษี หรือซื้อในประเทศ ก็ตาม
2. การแก้ไขโครงการ คือ การแก้ไขเงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนดไว้ในบัตรส่งเสริม เช่น ชนิดผลิตภัณฑ์ กำลังผลิต กรรมวิธีผลิต เป็นต้น
ยกตัวอย่างเช่น
1.บริษัทต้องการซื้อเครื่องตรวจสอบชนิดใหม่หลายรายการ เพื่อตรวจสอบคุณภาพสินค้า ตามความต้องการของลูกค้า
- กรณีนี้มีการลงทุนเพิ่ม แต่เนื่องจากกรรมวิธีการผลิตที่ได้รับอนุมัติ มีขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพอยู่แล้ว ไม่ต้องแก้ไขโครงการ จึงไม่เข้าข่ายที่ต้องขอแก้ไขโครงการที่มีการลงทุนเพิ่มตามประกาศ ป.3/2547
2.เครื่องจักรของบริษัทมีประสิทธิภาพการผลิตลดต่ำลง เนื่องจากใช้งานมานาน บริษัทจึงต้องการซื้อเครื่องจักรใหม่มาทดแทนกำลังผลิตเดิมที่ขาดหายไป
- กรณีนี้มีการลงทุนเพิ่ม แต่ยังคงเป็นการผลิตสินค้าชนิดเดิม ตามกำลังผลิตเดิม และตามกรรมวิธีการผลิตเดิมที่ได้รับอนุมัติ จึงไม่เข้าข่ายที่ต้องขอแก้ไขโครงการที่มีการลงทุนเพิ่มตามประกาศ ป.3/2547
3.บริษัทต้องการแก้ไขชนิดผลิตัณฑ์จาก A เป็น A และ B โดยใช้เครื่องจักรที่มีอยู่เดิม
- กรณีนี้เป็นการแก้ไขโครงการ แต่ไม่มีการลงทุนเพิ่ม จึงไม่เข้าข่ายที่ต้องขอแก้ไขโครงการที่มีการลงทุนเพิ่มตามประกาศ ป.3/2547
กรณีที่สอบถาม สรุปได้เป็นการแก้ไขโครงการโดยมีการลงทุนเพิ่ม คือ จะแก้ไขกรรมวิธีการผลิตเพิ่มขั้นตอนการตัดวัตถุดิบ โดยลงทุนเครื่องตัด
ความเห็นส่วนตัวของแอดมิน เห็นว่าเข้าข่ายที่จะต้องขอแก้ไขโครงการโดยมีการลงทุนเพิ่ม ตามประกาศ ป.3/2547
หากบริษัทไม่แก้ไขโครงการ วัตถุดิบที่ได้รับอนุมัติอยู่เดิม (วัตถุดิบที่ตัดมาแล้ว) จะไม่ตรงกับวัตถุดิบที่ต้องใช้จริง (วัตถุดิบก่อนการตัด) และจะกระทบกับการใช้สิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าตามมาตรา 36 ของวัตถุดิบรายการนั้น รวมถึงกระทบกับบัญชีรายการสต็อกวัตถุดิบและสูตรการผลิต ที่ได้รับอนุมัติไว้เดิม
สำหรับคำแนะนำของ จนท BOI นั้น อาจเคยมีการวินิจฉัยและกำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติภายในของ BOI ไว้แล้ว ซึ่งแอดมินไม่อาจสามารถทราบได้
และหากการแก้ไขกรรมวิธีการผลิตเพิ่มขั้นตอนการตัดวัตถุดิบนี้ ไม่ทำให้บัญชีรายการสต็อกวัตถุดิบและสูตรการผลิตของโครงการเปลี่ยนแปลงไป
บริษัทก็อาจจะไม่ยื่นแก้ไขโครงการตามคำแนะนำของ จนท BOI ก็ได้ ครับ