เรียน แอดมิน
ขอรบกวนสอบถามดังนี้ค่ะ ในกรณีที่บริษัทมีเครื่องจักรในโครงการ และกำลังการผลิตของเครื่องจักรที่ผลิตได้เกินจากกำลังการผลิตของบัตรส่งเสริมที่ได้รับอนุมัติจากบีโอไอ
บริษัทจะสามารถทำอย่างไรได้บ้างคะ เพื่อขอแก้ไขกำลังการผลิต (เพิ่มกำลังการผลิต) ในบัตรส่งเสริมให้ถูกต้องตรงตามกำลังการผลิตของเครื่องจักร
* บริษัทเปิดดำเนินการเต็มโครงการแล้ว
* บริษัทได้รับการส่งเสริมในกิจการ ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
ขอบคุณค่ะ
ขอตอบตามความเห็นแอดมินดังนี้ครับ
กรณีที่เปิดดำเนินการแล้ว แต่ต่อมาภายหลังมีกำลังผลิตเพิ่มขึ้น น่าจะเกิดจาก 3 สาเหตุคือ
1. แจ้งกำลังผลิตในขั้นเปิดดำเนินการ ต่ำกว่าความเป็นจริง
- ไม่อยู่ในข่ายที่จะขอแก้ไขกำลังผลิต
2. cycle time ในการผลิตลดลง (เช่น สินค้ามีขนาดเล็กลง หรือ) ทำให้ผลิตสินค้าได้เพิ่มขึ้น
- อาจขอแก้ไขได้เป็นกรณีๆไป ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ BOI
3. มีการลงทุนเครื่องจักรเพิ่มเติมหลังจากได้รับในอนุญาตเปิดดำเนินการไปแล้ว
- ไม่อยู่ในข่ายที่จะขอแก้ไขกำลังผลิต
กิจการอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องไฟฟ้า สามารถแก้ไขกำลังผลิตได้ แม้ว่าจะเปิดดำเนินการเต็มโครงการไปแล้วก็ตาม
แต่หากบริษัทลงทุนเครื่องจักรเพิ่มขึ้นไปแล้ว โดยไม่ได้ยื่นขอแก้ไขโครงการต่อ BOI ก่อนที่จะซื้อเครื่องจักรเพิ่มเติม ก็จะไม่นับกำลังผลิตที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นกำลังผลิตของโครงการที่ได้รับส่งเสริม ครับ
เรียน แอดมิน
ขอบคุณสำหรับคำตอบค่ะ รบกวนขอสอบถามเพิ่มเติมค่ะ
* จากคำตอบใน ข้อที่ 2 > เรื่อง cycle time ในการผลิต หากบริษัทให้ข้อมูลกำลังการผลิตของเครื่องจักรหลักที่ใช้ในการผลิต ผิด ตั้งแต่แรกที่มี
การขออนุมัติรายการเครื่องจักร จึงทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการขอกำลังการผลิตของโครงการตามบัตรส่งเสริม (ในการคำนวนกำลังการผลิตในการขอเปิดดำเนินการ)
เช่น ตอนที่ขออนุมัติรายการเครื่องจักรไป ได้ใส่ข้อมูล เครื่อง A ว่า มี cycle time = 500 ชิ้น/ชม. ตามที่ได้รับข้อมูลมา แต่ต่อมาได้รับแจ้งมาใหม่ว่าข้อมูลไม่ถูกต้องจริง เครื่อง A ต้องมี cycle time = 1000 ชิ้น/ชม. เป็นต้น
ในกรณีนี้บริษัทสามารถขอแก้ไขกำลังการผลิต (เพิ่มกำลังการผลิต) ได้หรือไม่คะ
การให้เหตุผลว่าคำนวณกำลังผลิต (คำนวณcycle time ผิด ฯลฯ) เข้าข่ายข้อ 1 คือแจ้งกำลังผลิตในขั้นเปิดดำเนินการต่ำกว่าจริง
แต่เนื่องจากการคำนวณกำลังผลิตในขั้นเปิดดำเนินการ ถือเป็นที่ยุติไปแล้ว เนื่องจากบริษัทเป็นผู้แจ้งกำลังผลิต และ BOI ตรวจสอบว่ามีกำลังผลิตตามนั้นจริง
จึงไม่น่าจะขอแก้ไขเพื่อเพิ่มกำลังผลิต ด้วยเหตุผลว่า "คำนวณผิด" ได้แล้วครับ
เรียน แอดมิน
ขอบคุณมากๆ ค่ะ
ขอสอบถามเพิ่มเติมค่ะ
* ในกรณีนี้ถ้าบริษัทคำนวนกำลังการผลิตของเครื่องจักรที่เป็นคอขวดผิด และทำให้ไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตในโครงการได้แล้ว บริษัทสามารถขออนุมัติโครงการ ใหม่ได้หรือไม่คะ
บริษัทสามารถยื่นขอรับส่งเสริมโครงการใหม่ (ขยายกิจการ) ได้ โดยจะผลิตผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกับที่ได้รับส่งเสริมอยู่เดิมได้
แต่จะต้องมีการลงทุนใหม่ โดยไม่ใช้เครื่องจักรร่วมกับโครงการที่มีอยู่เดิม ครับ
การไม่อนุญาตให้แก้ไขกำลังผลิตหลังจากเปิดดำเนินการไปแล้ว โดยมีสาเหตุจากการคำนวณกำลังผลิต นั้น
เป็นคำตอบตามหลักเกณฑ์ทั่วไปเท่านั้น
บริษัทควรนำเอกสารหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ยืนยันได้ว่าเป็นการคำนวณผิด ไปปรึกษากับ BOI โดยตรงอีกทางหนึ่ง ครับ
เรียน แอดมิน
ขอบคุณมากค่ะ
เรียน แอดมิน
ขอสอบถามเพิ่มเติม และขอคำแนะนำค่ะ
* จากคำถามด้านบน กรณีที่บริษัทมีเครื่องจักรในโครงการ และกำลังการผลิตที่ผลิตได้เกินจากกำลังการผลิตของบัตรส่งเสริม
(บริษัทเปิดดำเนินการเต็มโครงการแล้ว ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์) เช่น กำลังการผลิตตามบัตร คือ 1,000 ล้านชิ้น บริษัทผลิตได้ 2,000 ล้านชิ้น
ในกรณีบริษัทไม่สามารถขอแก้ไขโครงการได้ และบริษัทมีกำลังการผลิตที่เกินจากบัตรส่งเสริม ขอถามดังนี้ค่ะ
1. การที่บริษัทผลิตได้เกินจากบัตรส่งเสริม จะมีข้อเสีย หรือ มีผลอย่างไรกับบริษัทบ้างคะ
2. กำลังการผลิตที่บริษัทผลิตได้เกินมา 1,000 ล้านชิ้นนี้ บริษัทจะต้องดำเนินการอย่างไรคะ เช่น จะต้องแจ้งให้ใครทราบ หรือ ต้องทำอย่างไรคะ
ตามหลักการ ต้องบอกว่า กำลังผลิตของบริษัทฯ ไม่เกินกว่าในบัตรส่งเสริม
เนื่องจาก BOI ได้พิสูจน์เป็นที่ยุติแล้วว่าบริษัทมีกำลังผลิตตามนั้น และได้ออกใบอนุญาตเปิดดำเนินการให้ตามกำลังผลิตในบัตรส่งเสริมแล้ว
แต่ภายหลังจากได้รับอนุญาตเปิดดำเนินการ
หากบริษัทมียอดขายเกินกว่าปริมาณที่ระบุไว้ในบัตรส่งเสริม
ส่วนที่เกินกว่ากำลังผลิตที่ระบุในบัตรส่งเสริม จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่ได้
แต่ปริมาณส่วนที่เกินนี้ ยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ด้านวัตถุดิบ (สามารถตัดบัญชีวัตถุดิบได้) ตามที่ได้รับส่งเสริมอยู่เดิม ครับ
เครื่องจักรที่จะได้รับสิทธิยกเว้นอากรขาเข้า จะต้องเป็นเครื่องจักรที่มีกำลังผลิตตามที่ระบุในบัตรส่งเสริม
ดังนั้น ในขั้นตรวจสอบเปิดดำเนินการ หาก BOI ตรวจพบว่าบริษัทมีกำลังผลิตเกินกว่าบัตรส่งเสริม และบริษัทไม่ประสงค์แก้ไขกำลังผลิตในบัตรส่งเสริม ให้เป็นไปตามที่ BOI ตรวจสอบพบ ก็จะถือว่าบริษัทใช้สิทธินำเข้าเครื่องจักรเกินกว่ากำลังผลิตในบัตรส่งเสริม ซึ่งบริษัทจะต้องชำระภาษีอากรเครื่องจักรในส่วนที่เกิน
แต่กรณีของบริษัท BOI ได้ตรวจสอบแล้วว่ากำลังผลิตของบริษัท เป็นไปตามที่ระบุในบัตรส่งเสริม จึงไม่เข้าข่ายที่ต้องชำระภาษีเครื่องจักรในส่วนที่เกิน ครับ
เรียน แอดมิน
ขอบคุณมากค่ะสำหรับคำตอบ ขอสอบถามเพิ่มเติมค่ะ
# หากบริษัทไม่สามารถขอแก้ไขโครงการได้แล้ว บริษัทสามารถขอรับการส่งเสริมโครงการใหม่ภายใต้บัตรส่งเสริมเดิมได้หรือไม่คะ
( ถ้าเครื่องจักรที่จะนำมาใช้ในการผลิตของโครงการใหม่มีเครื่องจักรไม่ครบทุกกระบวนการผลิต เช่น กระบวนการผลิตมีทั้งหมด 5 ขั้นตอน ต้องใช้เครื่องจักรในการผลิตทั้งหมด 5 ชื่อ แต่โครงการที่จะขอใหม่มีเครื่องจักรในกระบวนการผลิต แค่ 4 ชื่อ เพราะเครื่องจักรบางตัวสามารถใช้ร่วมกับของโครงการเดิมได้ )
รบกวนขอคำแนะนำค่ะ ขอบคุณค่ะ
การขอรับส่งเสริมโครงการใหม่ ภายใต้บัตรส่งเสริมฉบับเดิม ไม่สามารถทำได้
โดยการขอรับส่งเสริมโครงการใหม่ จะต้องยื่นแบบคำขอรับการส่งเสริม
ซึ่งเมื่อได้รับอนุมัติ จะได้รับบัตรส่งเสริมฉบับใหม่ ซึ่งอาจมีเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์แตกต่างไปจากบัตรส่งเสริมฉบับเดิม
แต่การแก้ไขโครงการภายใต้บัตรส่งเสริมฉบับเดิม จะต้องยื่นแบบคำขอแก้ไขโครงการ ครับ
เรียน แอดมิน
ขอบคุณมากค่ะ