FAQ108 108 คำถามเพื่อการลงทุน

BOI
กรมศุลกากร
KM-IC
หลักสูตรฝึกอบรม BOI, IC, ศุลกากร
one-on-one Training
in-house Training
IC counter service
counter service

108 คำถามกับงาน BOI / การดำเนินการอื่นๆ / อื่นๆ
การดำเนินการต่างๆ กรณีได้รับส่งเสริม
1 - 11 จาก 11 คำตอบ
page: 1/1
GUEST เมื่อ 15 มีค 59, 08:32 น.

เรียนสอบถาม ในกรณีที่ได้ BOI
1. เราจะไม่ถูกหัก ณ ที่จ่ายเวลาขายอะไรให้ลูกค้า แล้ว ค่าเช่าสำนักงานต้อง หัก ภาษี ณ ที่จ่ายไหมค่ะ
2. แต่ถ้าเราจ้างใครทำอะไร หรือรับบริการ เราต้อง หัก ภาษี ณ ที่จ่ายไว้ไหมค่ะ
3. แล้วแบบนี้ภาษี ภพ 30 จะทำอย่างไรค่ะ งง
4. แต่ลูกจ้าง เงินเดือนต้อง หัก ภาษี ณ ที่จ่าย ไว้ตามปกติใช่ไหมค่ะ
5. แล้วคำ ว่า เปิดดำเนินการภายใน 3 ปี นี้ คือ ระหว่างปี 1-3 ต้องทำงบการเงินปกติ แล้วก็ยื่นเสียภาษีตามปกติใช่ไหมค่ะ
6. ประกันสังคมต้องจดเลย หรือว่าจดทีหลังได้ค่ะ หากช่วงแรกยังไม่มีพนักงาน หรือว่ายังไม่เป็นพนักงานประจำ ไม่จดได้ไหมค่ะ
ขอบคุณค่ะ
บ.Wh....

 

ADMIN เมื่อ 15 มีค 59, 09:08 น. #1

ตอบคำถามดังนี้ครับ

ถาม 1 เราจะไม่ถูกหัก ณ ที่จ่ายเวลาขายอะไรให้ลูกค้า แล้ว ค่าเช่าสำนักงานต้อง หัก ภาษี ณ ที่จ่ายไหมค่ะ

ตอบ บริษัทที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนโดยได้รับสิทธิตามมาตรา 31 จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับส่งเสริม
ดังนั้น ผู้ที่จ่ายเงินค่าจ้างหรือค่าบริการให้กับผู้ไดรับส่งเสริมดังกล่าว จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย 

โดยบริษัทที่ได้รับส่งเสริมจะต้องถ่ายสำเนาบัตรส่งเสริมให้กับผู้จ่ายเงิน เพื่อแสดงว่าบริษัทได้รับสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการประกอบกิจการบริการนั้น

คำตอบข้อหารือของกรมสรรพากร
http://www.rd.go.th/publish/23636.0.html
http://www.rd.go.th/publish/35686.0.html

ส่วนค่าเช่าสำนักงาน และค่าอื่นๆ ที่อาจต้องการสอบถามเพิ่มเติมภายหลัง
ถ้าเข้าข่ายตามคำตอบข้างต้น ผู้จ่ายก็ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย
แต่ถ้าไม่เข้าข่าย ผู้จ่ายก็มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามประกาศกรมสรรพากร

ถาม 2 แต่ถ้าเราจ้างใครทำอะไร หรือรับบริการ เราต้อง หัก ภาษี ณ ที่จ่ายไว้ไหมค่ะ

ตอบ เหมือนกับข้อ 1 คือ หากผู้ให้บริการเป็นบริษัท BOI ที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา BOI ผู้ว่าจ้างก็ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับค่าจ้างตามโครงการที่ผู้รับจ้างได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้

ถาม 3 แล้วแบบนี้ภาษี ภพ 30 จะทำอย่างไรค่ะ งง

ตอบ ภพ 30 ไม่เกี่ยวข้องอะไร
ให้เรียกเก็บ VAT หรือชำระ VAT ตามปกติ

ถาม 4 แต่ลูกจ้าง เงินเดือนต้อง หัก ภาษี ณ ที่จ่าย ไว้ตามปกติใช่ไหมค่ะ

ตอบ ใช่ครับ

ถาม 5 แล้วคำว่า เปิดดำเนินการภายใน 3 ปี นี้ คือ ระหว่างปี 1-3 ต้องทำงบการเงินปกติ แล้วก็ยื่นเสียภาษีตามปกติใช่ไหมค่ะ

ตอบ คำว่าเปิดดำเนินการภายใน 3 ปี เขียนไว้ที่ไหนอย่างไร ช่วยคัดลอกข้อความมาให้ครบถ้วนด้วย มิฉะนั้นอาจจะถามตอบกันไปคนละทาง

ในบัตรส่งเสริมมีเงื่อนไขว่า บริษัทต้องเปิดดำเนินการภายในวันที่ ... (ปกติคือ 3 ปีนับจากวันที่ออกบัตรส่งเสริม) เว้นแต่จะมีการขอขยายเวลานำเข้าเครื่องจักร หรือขอขยายเวลาเปิดดำเนินการออกไปอีก

คำว่าเปิดดำเนินการ ที่ระบุในบัตรส่งเสริม คือ การมีการลงทุนครบถ้วนตามโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริม แต่บริษัทจะเริ่มผลิตหรือให้บริการก่อนวันเปิดดำเนินการของ BOI ก็ได้

อธิบายอีกแบบหนึ่งคือ วันเปิดดำเนินการของ BOI เป็นวันสุดท้ายที่กำหนดให้บริษัทต้องทำตามเงื่อนไขให้ได้ครบ ไม่ใช่วันแรกที่จะเริ่มผลิตหรือให้บริการ

ดังนั้น บริษัทจึงสามารถมีรายได้ก่อนวันเปิดดำเนินการของ BOI ได้ และหากในช่วงนั้นมีกำไร ก็สามารถขอยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามสิทธิที่ได้รับ

ถาม 6 ประกันสังคมต้องจดเลย หรือว่าจดทีหลังได้ค่ะ หากช่วงแรกยังไม่มีพนักงาน หรือว่ายังไม่เป็นพนักงานประจำ ไม่จดได้ไหมค่ะ

ตอบ ประกันสังคม จะต้องยื่นจดเมื่อมีการจ้างงาน
ดังนั้น หากยังไม่มีการจ้างงาน เช่น หากยังเป็นการจ้างเหมาบริการ ฯลฯ ก็ยังไม่ต้องจดทะเบียนนายจ้างตาม พรบ.ประกันสังคม

--------------------------------------
เว็บบอร์ดนี้ตอบคำถามเฉพาะงานในส่วนของ BOI และ IC

คำถามหลายข้อที่สอบถาม ไม่เกี่ยวข้องกับ พรบ.ส่งเสริมการลงทุน ของ BOI จึงขอให้ติดต่อสอบถามจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องโดยตรงครับ

fndt เมื่อ 15 กค 59, 09:30 น. #2

กรณีบริษัทได้รับการส่งเสริมตามมาตรา 36 เรื่องการนำเข้าเพื่อการส่งออก อยากทราบว่า BOI มีข้อกำหนดใดๆ เกี่ยวกับฉลากสินค้าที่จะส่งไปในแต่ละประเทศหรือไม่ อย่างไรบ้างคะ ขอบคุณมากค่ะ

ADMIN เมื่อ 15 กค 59, 10:08 น. #3

ไม่มีครับ

มีเฉพาะเงื่อนไขคุณภาพสินค้า ซึ่งกำหนดไว้ในบัตรส่งเสริม เงื่อนไขทั่วไป ข้อ 14 คือ คุณภาพของผลิตภัณฑ์ต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล และหากมีการกำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรม จะต้องดำเนินการให้ได้รับใบรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรรม ครับ

fndt เมื่อ 1 สค 59, 16:51 น. #4

บริษัทสามารถขอคัดหนังสือขอรับการส่งเสริมบีโอไอได้หรือไม่ ขอบคุณค่ะ

ADMIN เมื่อ 2 สค 59, 08:38 น. #5

สามารถขอคัดสำเนาคำขอรับส่งเสริมได้

โดยทำหนังสือบริษัท (ไม่มีแบบฟอร์ม ร่างขึ้นได้เอง) ให้กรรมการผู้มีอำนาจลงนามประทับตรา แจ้งความประสงค์ขอคัดสำเนาคำขอรับการส่งเสริม รวมถึงการมอบให้นาย....... เป็นผู้รับสำเนาคำขอฯ

และนำหนังสือไปติดต่อกับฝ่ายบัตรส่งเสริม BOI กรุงเทพ ครับ

fndt เมื่อ 2 สค 59, 10:19 น. #6

ขอบคุณค่ะ ทำหนังสือเรียนถึงใครคะ

ADMIN เมื่อ 2 สค 59, 11:49 น. #7

หนังสือทั้งหมดที่ยื่นต่อ BOI ให้ส่งถึง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ครับ

เซอิ เมื่อ 2 สค 59, 14:13 น. #8

บริษัท ขอปรึกษาเรื่องการส่งต่อผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปไปเป็นวัตถุดิบในโครงการอื่น    
ทางบริษัทได้รับการส่งเสริมการลงทุน 3 โครงการ      
โครงการที่ 1 ผลิตแท่งอลูมิเนียม  โครงการที่ 2 ผลิตสายไฟฟ้าอลูมิเนียม  โครงการที่ 3 ผลิตเส้นลวดอลูมิเนียม 
สิ่งที่จะทำ บริษัทจะนำผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ในโครงการที่ 3 ส่งต่อไปเป็นวัตถุดิบในโครงการที่ 1 และ โครงการที่ 2 
คำถาม คือ 1. บริษัทสามารถดำเนินการดังกล่าวได้หรือไม่      
 2. หากทำได้ บริษัทต้องแจ้ง หรือทำการแก้ไขบัตรส่งเสริม กับทางสำนักงานส่งเสริมการลงทุนหรือไม่อย่างไร
 

ADMIN เมื่อ 2 สค 59, 15:08 น. #9

1. โครงการที่ 3 ได้รับส่งเสริมผลิตเส้นลวดอลูมิเนียม

หากจะจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตามบัตรส่งเสริม ให้กับโครงการอื่นในบริษัทเดียวกัน

ก็สามารถทำได้ โดยไม่ต้องแก้ไขบัตรส่งเสริม และไม่ต้องขออนุญาตจาก BOI

2. หากกรรมวิธีการผลิตที่ได้รับส่งเสริมของโครงการที่ 1 และ 2 มีขั้นตอนตั้งแต่การนำเส้นลวดอลูมิเนียมมาใช้ในการผลิต

ก็สามารถซื้อเส้นลวดอลูมิเนียมจากโครงการ 3 โดยไม่ต้องแก้ไขบัตร และไม่ต้องขออนุญาตจาก BOI ครับ

-------------------------------------------------

หากจะสอบถามเพิ่มเติมเกียวกับการใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้หรือการใช้สิทธิวัตถุดิบ กรณีจำหน่ายภายในบริษัทเดียวกัน

ขอให้ตั้งเป็นคำถามใหม่ในหมวดหมู่ภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือหมวดหมู่วัตถุดิบ แล้วแต่กรณี ครับ

เซอิ เมื่อ 3 สค 59, 21:23 น. #10

ขอบคุณมากนะคะ

รบกวนถามเพิ่มอีก 1 ข้อค่ะ

หากจะจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตามบัตรส่งเสริม ให้กับโครงการอื่นในบริษัทเดียวกัน : สามารถจำหน่ายได้ หรือ ส่งมอบกันได้อย่างเดียวคะ

ขอบคุณมากค่ะ

ADMIN เมื่อ 4 สค 59, 12:20 น. #11

ในส่วนของบีโอไอ ถือเสมือนเป็นการจำหน่าย

เช่น โครงการที่ 3 จำหน่ายผลิตภัณฑ์ตามบัตรส่งเสริม เพื่อเป็นชิ้นส่วนให้กับโครงการที่ 2
จากนั้นโครงการที่ 2 นำไปผลิตต่อเป็นสินค้าและส่งออก
กรณีเช่นนี้ โครงการที่ 2 สามารถตัดบัญชี และโอนสิทธิตัดบัญชีให้กับโครงการที่ 2 ได้

สำหรับในส่วนการลงบัญชี ขอให้ปรึกษากับผู้สอบบัญชีโดยตรง
เท่าที่ทราบคือ การซื้อขายภายในบริษัทเดียวกัน จะต้องซื้อขายกันในราคาต้นทุน
ดังนั้นหากโครงการที่ 3 จำหน่ายสินค้าทั้งหมดให้กับโครงการที่ 2
โครงการที่ 3 ก็จะไม่มีกำไรที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษี เพราะจำหน่ายไปในราคาต้นทุน ครับ