FAQ108 108 คำถามเพื่อการลงทุน

BOI
กรมศุลกากร
KM-IC
หลักสูตรฝึกอบรม BOI, IC, ศุลกากร
one-on-one Training
in-house Training
IC counter service
counter service

108 คำถามกับงาน BOI / ภาษีเงินได้นิติบุคคล / การคำนวณวงเงินลงทุนที่ได้รับยกเว้นภาษี
การคำนวณวงเงินที่สามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
1 - 15 จาก 15 คำตอบ
page: 1/1
Napat เมื่อ 24 ตค 57, 09:47 น.

ในกรณีที่ สิทธิฯ ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร สิ้นสุดวันที่ 30 ม.ค.  และบริษัท ต้องเปิดดำเนินการภายใน 30 มิ.ย.

 แต่ระหว่างวันที่ 1 ก.พ. - 29 มิ.ย. บริษัทมีการซื้อเครื่องจักรเข้ามาใช้เพิ่มเติมในโครงการ (ทั้งนำเข้าและซื้อในประเทศ) บริษัทฯ สามารถนำมูลค่าของเครื่องจักรที่ซื้อมาในช่วงระยะเวลาดังกล่าว มารวมคำนวนเป็นวงเงินที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่คะ

รบกวนขอคำแนะนำหน่อยนะคะ

ADMIN เมื่อ 24 ตค 57, 10:19 น. #1

การคำนวณขนาดการลงทุนเพื่อนับเป็นวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สามารถนับได้ถึงวันที่บริษัทขอยุติการนับขนาดการลงทุน ซึ่งต้องไม่เกินวันครบกำหนดเปิดดำเนินการ

กรณีที่สอบถามข้างต้น หากบริษัทยื่นคำขอเปิดดำเนินการในวันที่ 30 มิย ก็สามารถกำหนดวันยุติการนับขนาดการลงทุนเป็นวันที่ 30 มิย และนำมูลค่าเครื่องจักรที่ซื้อมาระหว่าง 1 กพ - 29 มิย มารวมนับเป็นขนาดการลงทุนได้ แม้ว่าเครื่องจักรนั้นจะชำระภาษีอากรเข้ามาเองก็ตาม แต่ทั้งนี้ต้องเป็นเครื่องจักรที่ถูกต้องตามตามเงื่อนไขของโครงการ (เช่น เป็นเครื่องจักรใหม่ ในกรณีมีเงื่อนไขให้ใช้เครื่องจักรใหม่ เป็นต้น)

(ปล. หากระยะเวลานำเข้าเครื่องจักรสิ้นสุดในวันที่ 30 มค ระยะเวลาเปิดดำเนินการน่าจะนับไปอีก 6 เดือน คือ 30 กค ไม่น่าจะใช่ 30 มิย ครับ)

fndt เมื่อ 22 ธค 57, 11:59 น. #2
แก้ไขโดย fndt เมื่อ 22 ธค 57, 13:30 น.

บริษัทต้องการใช้สิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล อยากทราบว่าบริษัทสามารถระบุปริมาณการจำหน่าย/การให้บริการ ในข้อ 1.4 ตามแบบฟอร์มขอใช้สิทธิฯ เกิน ปริมาณกำลังผลิต/ขนาดบริการที่ระบุในบัตรส่งเสริมได้หรือไม่

ขอบคุณมากค่ะ

ADMIN เมื่อ 22 ธค 57, 13:36 น. #3

แบบคำขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ข้อ 1.4

ช่องที่ 5 ให้ระบุปริมาณการจำหน่ายตามจริง ซึ่งอาจจะเกินกำลังผลิตในบัตรส่งเสริมก็ได้

แต่ช่องที่ 6 ปริมาณที่ขอใช้สิทธิ จะต้องไม่เกินกว่ากำลังผลิตในบัตรส่งเสริม และไม่เกินกว่ากำลังผลิตของเครื่องจักรที่ติดตั้งแล้วครับ

fndt เมื่อ 22 ธค 57, 16:13 น. #4

ถามต่อ..จากแบบคำขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ข้อ 1.4

ถ้าในช่องที่ 6 ถ้าปริมาณที่ขอใช้สิทธิ เกินกว่ากำลังผลิตในบัตรส่งเสริม แต่ไม่เกินกว่ากำลังผลิตของเครื่องจักรที่ติดตั้งแล้ว สามารถขอใช้สิทธิได้หรือไม่ (กรณีเป็นบัตรส่งเสริมเพื่อช่วยเหลือวิกฤตอุทกภัย)

รบกวนชี้แจงหน่อยค่ะ ขอบพระคุณมากค่ะ

ADMIN เมื่อ 22 ธค 57, 16:33 น. #5
แก้ไขโดย ADMIN เมื่อ 22 ธค 57, 16:34 น.

การยกเว้นภาษีเงินได้ จะยกเว้นตามเงื่อนไขที่ระบุในบัตรส่งเสริม

กรณีที่มีเครื่องจักรเกินกว่ากำลังผลิตในบัตรส่งเสริม จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีได้ไม่เกินกำลังผลิตในบัตรส่งเสริม

แต่ในขั้นเปิดดำเนินการเต็มโครงการ บริษัทสามารถขอแก้ไขกำลังผลิตในบัตรส่งเสริม ให้ตรงกับกำลังผลิตของเครื่องจักรที่มีอยู่จริงได้

หลังจากแก้ไขตัวเลขกำลังผลิตในบัตรส่งเสริม บริษัทจะสามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามกำลังผลิตที่แก้ไขใหม่นี้ได้ แต่จะไม่ย้อนหลังไปถึงรายได้ก่อนหน้านั้น

----------------------------------------------------------------------------

ในบัตรส่งเสริมของคุณ fndt ที่ออกตามนโยบายฟื้นฟูการลงทุนจากวิกฤติอุทกภัย มีเงื่อนไขที่ระบุว่าจะให้สิทธิมากกว่ากำลังผลิตไหมครับ

ถ้ามี รบกวนช่วยก็อปปี้ข้อความลงมาให้หน่อย จะได้ไปตรวจสอบให้ครับ

ADMIN ไม่ค่อยเจอเคสของกิจการฟื้นฟูอุทกภัยเท่าไร จึงอยากจะได้ข้อมูลมากกว่านี้หน่อยครับ

fndt เมื่อ 22 ธค 57, 17:18 น. #6

เรียนคุณ ADMIN ตามบัตรส่งเสริมไม่มีระบุว่าจะให้สิทธิมากกว่ากำลังผลิตค่ะ แต่จะมีระบุว่าให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 31 มีมูลค่าเท่าไหร่ไว้ค่ะ

ขอรบกวนสอบถามเพิ่มเติมอีกนิดนึงนะคะ ตามประกาศ แนวปฏิบัติตามมาตรการด้านภาษีอากรเพื่อฟื้นฟูการลงทุนจากวิกฤตอุทกภัย ลว.28 ต.ค. 2556

คำถาม ตามข้อ 3 ในประกาศ

- บริษัทฯได้รับสิทธิบัตรเดิม 8 ปี  แต่ใช้ไปแค่ 4 ปี บริษัทฯ สามารถใช้บัตรเดิมอีกได้หรือไม่ในรอบปีบัญชี 1 ต.ค 2556 ถึง 30 ก.ย. 2557

- บริษัทฯได้กำหนดวันเริ่มใช้สิทธิตามบัตรใหม่ไว้ 1 ต.ค 2556 โดยกรอกไว้ในแบบฟอร์มขอสิทธิของปี 2556 ถ้าจะเลื่อนเป็นเริ่มใช้สิทธิบัตรใหม่วันที่ 1 ต.ค 2557 ถือว่าทำผิดเงื่อนไขใดๆ หรือไม่

รบกวนสรุปให้หน่อยค่ะ ขอบพระคุณมากค่ะ

ADMIN เมื่อ 22 ธค 57, 18:43 น. #7

1. การใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ จะต้องไม่เกินกำลังผลิตในบัตรส่งเสริม และไม่เกินวงเงินสูงสุดที่ระบุในบัตรส่งเสริม (ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้ ณ วันเปิดดำเนินการ)

- ดังนั้น หากปริมาณยอดขายเกินกว่ากำลังผลิตในบัตรส่งเสริม ก็จะใช้สิทธิได้เพียงเท่ากับกำลังผลิตในบัตรส่งเสริมเท่านั้น

=========================================================

สำหรับคำชี้แจง เรื่อง แนวทางปฏิบัติตามมาตรการเพื่อฟื้นฟูการลงทุนจากวิกฤติอุทกภัย ลว 28 ตค 56 ขอตอบตามนี้ครับ

ถาม 1 : โครงการเดิมได้รับสิทธิ 8 ปี แต่ใช้ไปแล้ว 4 ปี จะสามารถใช้สิทธิในรอบปี ตค 56 - กย 57 ได้หรือไม่ 

ตอบ 1 : คำชี้แจงข้อ 3.1.1 ระบุว่า โครงการเดิมสามารถใช้สิทธิได้จนถึงวันที่มีประกาศยกเลิกบัตรส่งเสริม

  • ดังนั้น จึงขึ้นกับข้อเท็จจริงว่า BOI มีประกาศยกเลิกบัตรส่งเสริมของโครงการเดิมเมื่อไร
    เช่น หากมีประกาศยกเลิกตั้งแต่ 10 เมย 57
    - โครงการเดิมก็จะใช้สิทธิได้ไม่เกิน 9 เมย 57
    - ส่วนโครงการใหม่จะใช้สิทธิได้ตั้งแต่ 10 เมย 57 เป็นต้นไป แต่ในวันที่เริ่มใช้สิทธิจะต้องมีเครื่องจักรครบขั้นตอนการผลิตแล้วด้วย

=========================================================

สำหรับคำถามที่ 2 เนื่องจากโครงการเดิม จะต้องทำเรื่องโอนเครื่องจักรที่ยังสามารถใช้งานได้ ไปยังโครงการใหม่ภายใน 3 เดือนนับจากวันออกบัตรฉบับใหม่ ดังนั้น การขอใช้สิทธิตามโครงการเดิมอีกเป็นปีๆ จึงไม่น่าเกิดขึ้นได้

ขอทราบข้อเท็จจริงก่อนดีไหมครับว่า โครงการเดิมถูกยกเลิกบัตรไปเมื่อใด เพราะถ้ายกเลิกไปตั้งแต่ช่วง ตค 56 รายได้ที่เกิดหลังจากนั้น ก็ต้องใช้สิทธิตามบัตรใหม่เท่านั้น ไม่มีทางเลือกอื่นครับ

fndt เมื่อ 23 ธค 57, 10:38 น. #8

เข้าใจทุกประเด็นที่ทาง ADMIN ชี้แจงอย่างชัดเจนค่ะ

โครงการเดิมไม่ได้ทำเรื่องยกเลิกแต่อย่างใดค่ะ เพราะจากการสอบถามเบื้องต้นกับเจ้าหน้าที่ ได้ความว่าบัตรส่งเสริมเดิมจะได้รับการยกเลิกโดยอัตโนมัติค่ะ เมื่อมีบัตรส่งเสริมใหม่ออกมาแล้วค่ะ คุณ ADMIN พอจะแนะนำประกาศที่แสดงข้อความว่ายกเลิกบัตรเดิมกรณีฟื้นฟูอุทกภัยได้หรือไม่คะ อยากได้เป็นข้อมูลเก็บไว้ค่ะ

ตอนแรกทางบริษัทฯ สับสนในการใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพราะ คำชี้แจงข้อ 3.2.3 ระบุว่า กรณีโครงการใหม่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมขณะที่โครงการเดิมยังมีสิทธิและประโยชน์เหลืออยู่ ผู้ได้รับการส่งเสริมอาจใช้สิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลต่อเนื่องกันได้ โดยผู้ได้รับการส่งเสริมเลือกวันใดวันหนึ่งเป็นวันสิ้นสุดการใช้สิทธิของโครงการเดิมให้ชัดแจ้ง แต่ต้องไม่ก่อนวันอนุมัติโครงการใหม่ ส่วนโครงการใหม่ให้เริ่มนับระยะเวลาถัดจากวันสิ้นสุดการใช้สิทธิของโครงการเดิม

แต่เนื่องจาก บริษัทได้กำหนดวันเริ่มใช้บัตรใหม่ในแบบฟอร์มปีที่แล้วเป็น 1 ต.ค. 2556 และวันสิ้นสุดการใช้บัตรเดิมเป็น 30 ก.ย.2559 ค่ะ สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจะคล่อมกันอยู่ค่ะเลยทำให้ทางบริษัทฯ ไม่แน่ใจว่าจะใช้บัตรเดิมหรือบัตรใหม่แล้วผิดเงื่อนไขใดๆ กับทางบีโอไอหรือสรรพากรหรือไม่ อย่างไรค่ะ

หากคุณ ADMIN มีข้อมูลแนะนำในส่วนนี้ยินดีรับคำชี้แจงเป็นอย่างยิ่งค่ะ ขอบพระคุณอีกครั้งค่ะ

ข้ออภัยค่ะ บัตรส่งเสริมเดิมมีสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 7 ปีค่ะ

 

ADMIN เมื่อ 23 ธค 57, 11:29 น. #9

ในการยกเลิกบัตรเก่า บีโอไอจะออกประกาศยกเลิกบัตร และส่งประกาศให้บริษัททางไปรษณีย์

ในทางปฏิบัติ บัตรเก่าน่าจะถูกยกเลิกก่อนที่ BOI จะออกบัตรใหม่
มิฉะนั้น บริษัทจะถือบัตรส่งเสริมพร้อมกัน 2 ฉบับ ในโครงการเดียวกัน ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง

กรณีของคุณ fndt เป็นไปได้หรือไม่ว่า BOI ส่งประกาศยกเลิกบัตรไปแล้ว แต่บริษัทไม่ได้รับ หรือได้รับแล้วแต่อาจเกิดความเข้าใจผิด เป็นต้น

หากตรวจสอบแล้วว่า บริษัทยังไม่ได้รับประกาศยกเลิกบัตรเก่าจาก BOI ขอให้ติดต่อกับฝ่ายกฎหมายและฝ่ายบัตรส่งเสริมของ BOI เพื่อขอให้ช่วยตรวจสอบว่าได้มีการออกประกาศยกเลิกบัตรเก่าให้กับบริษัทแล้วหรือไม่
หากออกประกาศแล้ว แต่บริษัทไม่ได้รับ ก็ให้ทำเรื่องขอคัดสำเนาหรือตามที่เจ้าหน้าที่จะแนะนำต่อไป

กรณีมีการยกเลิกบัตรเก่าไปแล้ว ทำให้ระยะเวลาการยื่นขอใช้สิทธิภาษีเงินได้ของบริษัทไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ก็ควรปรึกษากับเจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบงานบัญชีของสำนักที่รับผิดชอบกิจการของบริษัท เพื่อปรึกษาวิธีแก้ไขให้ถูกต้องต่อไปครับ

fndt เมื่อ 30 ธค 57, 10:41 น. #10

เรียนคุณ ADMIN กรณีที่ทางบริษัทต้องการใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลครั้งแรกสำหรับบัตรส่งเสริมฟื้นฟูอุทกภัย (อ้างถึงแบบฟอร์ม F PM TA 01-01 ข้อ 1.3 การลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์) บริษัทสามารถระบุค่าซ่อมแซมเครื่องจักร และค่าเครื่องจักรที่ลงทุนใหม่ ตั้งแต่วันที่กำหนดว่ามีการซื้อครั้งแรกในปี 2554 จนถึง ณ วันสิ้นรอบบัญชีปีที่ขอใช้สิทธิฯ วันที่ 30 ก.ย 2557 ถูกต้องหรือไม่ รบกวนแนะนำหน่อยค่ะ ขอบพระคุณมากค่ะ

ADMIN เมื่อ 30 ธค 57, 11:34 น. #11

เงินลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่จะกรอกในข้อ 1.3 ต้องเป็นเครื่องจักรที่ซื้อมาหลังจากวันที่ยื่นขอรับการส่งเสริมเท่านั้น

หากบริษัทซื้อเครื่องจักรมาก่อนหน้าที่จะยื่นคำขอ จะต้องอธิบายรายละเอียดให้ชัดเจนในขั้นชี้แจงโครงการ โดย BOI จะพิจารณาเหตุผลเป็นกรณีๆไป และอาจอนุญาตให้นับเครื่องจักรนั้นเป็นขนาดการลงทุนของโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมได้ โดยจะระบุการอนุญาตให้ใช้เครื่องจักรที่ซื้อมาก่อนยื่นคำขอฯไว้ในบัตรส่งเสริมโดยชัดเจน

---------------------------------------------------------------------

กรณีที่สอบถาม จะขอย้อนกลับไปถึงปี 2554 ซึ่งน่าจะเป็นวันก่อนยื่นคำขอรับส่งเสริมตามนโยบายฟื้นฟูอุทกภัย จึงไม่สามารถทำได้

ให้ใส่เฉพาะเครื่องจักรและการซ่อมแซม ที่เกิดหลังจากวันที่ยื่นคำขอรับการส่งเสริมเท่านั้น

เว้นแต่ในบัตรส่งเสริมจะระบุไว้เป็นอย่างอื่น จึงจะสามารถรวมค่าเครื่องจักรก่อนนั้นได้ครับ

fndt เมื่อ 30 ธค 57, 13:39 น. #12

เนื่องจากวันที่ขอรับการส่งเสริมตามนโยบายฟื้นฟูที่ระบุในจดหมายเป็นวันที่ 25 ธันวาคม 2555 แต่บริษัทไม่แน่ใจว่ายึดได้หรือไม่ เพราะคนเก่าทำไว้ค่ะ บริษัทจะตรวจสอบวันที่ยื่นแน่นอนได้อย่างไรคะ หรือบริษัทควรใช้วันอนุมัติให้การส่งเสริมเป็นวันเริ่มนับเงินลงทุนดีคะ รบกวนปรึกษาอีกครั้งค่ะ ขอบคุณมากค่ะ

ADMIN เมื่อ 30 ธค 57, 14:38 น. #13
  1. การตรวจสอบวันที่ยื่นคำขอรับการส่งเสริม ให้ตรวจสอบจากหนังสือแจ้งมติให้การส่งเสริม ซึ่งจะมีการระบุเลขที่และวันที่ของคำขอรับการส่งเสริม
  2. การนับขนาดการลงทุน สามารถนับตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอรับการส่งเสริม
    ดังนั้น หากมีค่าใช้จ่ายการลงทุนเกิดขึ้นระหว่างวันที่ยื่นคำขอจนถึงวันที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริม ก็ควรนับมูลค่าการลงทุนในส่วนนั้นด้วย เพื่อให้สามารถคำนวณได้วงเงินสูงสุดที่พึงได้ครับ
fndt เมื่อ 30 ธค 57, 15:07 น. #14

เนื่องจากโครงการก่อนวิกฤตอุทกภัยเป็นโครงการโยกย้ายสถานประกอบการมา อยากทราบว่าในช่อง (2) และ (3) ตามข้อ 1.3 ต้องกรอกค่าซ่อมแซมเครื่องจักร และค่าเครื่องจักรที่ลงทุนใหม่ ทั้งสองช่องหรือไม่คะ และทั้งสองช่องมีความแตกต่างกันอย่างไรคะ ขอบพระคุณอย่างสูงอีกครั้งค่ะคุณ ADMIN

ADMIN เมื่อ 30 ธค 57, 16:42 น. #15

ช่อง 1.3 (2) คือ เครื่องจักรที่ซื้อมาใช้ในโครงการนั้นๆ

ส่วน 1.3 (3) คือ สินทรัพย์อื่นๆ เช่น ค่าก่อสร้าง ยานพาหนะ และอุปกรณ์สำนักงาน เป็นต้น

จึงเป็นค่าใช้จ่ายคนละรายการกัน

หากจะยื่นขอใช้สิทธิตามบัตรโยกย้ายสถานประกอบการ ไม่น่าจะนับค่าเครื่องจักรเป็นขนาดการลงทุนได้

เนื่องจากโครงการโยกย้าย ไม่ครอบคลุมถึงการปรับปรุงเครื่องจักรเก่าหรือซื้อเครื่องจักรมาเพิ่มเติมครับ