รบกวนสอบถามและปรึกษาค่ะ
บริษัทเปิดดำเนินการเสร็จสิ้นปี 60 อนาคตจะมีการย้ายฐานผลิตบางส่วนไปต่างประเทศ ย้ายในส่วนที่ไม่ใช่เครื่องจักรหลักไป
ไทยจะผลิตขั้นตอนที่ 1-2 ส่งออกไปให้ต่างประเทศผลิตขั้นตอนที่ 3-4 แล้วส่งกลับมาที่ไทย เพื่อแพ็คและส่งออก
คำถาม 1. ในส่วนของเครื่องจักร ต้องทำเรื่องตัดจำหน่ายและขอส่งออกไป ต่างประเทศ ได้ถูกต้องไหมคะ (ไม่มีภาระภาษี)
2. ส่งงานกึ่งสำเร็จรูป (ในส่วนนี้ต้องถูกปรับสูตรการผลิตด้วยเพราะก่อนหน้านี้ผลิตสำเร็จรูป) ก็ต้องแก้ไขการผลิต ถูกต้องไหมคะ
3. จากข้อ 2 ส่งออกไปต่างประเทศ (สิทธิ BOI ) เพื่อไปผลิตและนำเข้ากลับมาที่ไทย (สิทธิ ITC ) เพื่อแพ็คและส่งออก กรณีนี้ทำได้ถูกต้องไหมคะ
4. แล้วกรณีออก invoice ขายต้องดำเนินอย่างไรคะ เพราะ ซื้อขายให้กับ ชื่อบริษัทเดียวกันแต่แค่อยู่ คนละประเทศแค่นั้น
5. คำถามภาพรวมคือบริษัทต้องดำเนินการอย่างไรบ้างโดยที่ไม่มีปัญหาตามหลังกับหน่วยงานต่างๆค่ะ
ขอยกตัวอย่างใหม่ดังนี้
บริษัทได้รับส่งเสริมผลิตสินค้า D โดยมีขั้นตอนผลิตคือ
- ขั้นตอนที่ 1 นำเข้าวัตถุดิบ A แล้วผลิตเป็นชิ้นส่วน B
- ขั้นตอนที่ 2 นำชิ้นส่วน B ผลิตต่อเป็นชิ้นส่วน C
- ขั้นตอนที่ 3 นำชิ้นส่วน C ผลิตต่อเป็นสินค้า D
หากบริษัทจะนำขั้นตอนที่ 2 ไปว่าจ้างผลิตในต่างประเทศ แล้วนำกลับเข้ามาผลิตต่อในขั้นตอนที่ 3
จะต้องแก้ไขกรรมวิธีผลิต เป็นการว่าว่าจ้างผลิตขั้นตอนที่ 2
กรณีนี้ บริษัทจะต้องยื่นแก้ไขบัญชีรายการวัตถุดิบ และสูตรการผลิต คือ
1) ขออนุมัติสูตรการผลิตชิ้นส่วน B
- เพื่อใช้ตัดบัญชีวัตถุดิบ A เมื่อมีการส่งชิ้นส่วน B ออกไปว่าจ้างผลิตในต่างประเทศ
2) ขอแก้ไขบัญชีรายการวัตถุดิบ เพิ่มรายการ C
- เพื่อนำเข้า C โดยใช้สิทธิยกเว้นอากรขาเข้า เพื่อผลิตต่อในขั้นตอนที่ 3
3) แก้ไขสูตรการผลิตสินค้า D โดยจะมีวัตถุดิบเป็น C แต่ไม่มี A
- เพื่อใช้ตัดบัญชี C ที่นำเข้ามาตามข้อ 3)
กรณีที่สอบถาม จะแตกต่างกับตัวอย่างข้างต้นคือ
บริษัทจะผลิตขั้นตอนที่ 1 และ 2 เอง
แต่จะนำขั้นตอนที่ 3 ไปว่าจ้างต่างประเทศให้ผลิตเป็นสินค้า D แล้วนำสินค้า D เข้ามาบรรจุหีบห่อ แล้วส่งออก
จึงมีปัญหาคือ
1) การแก้ไขบัญชีรายการวัตถุดิบ เพิ่มรายการวัตถุดิบ D จะเป็นชื่อเดียวกับสินค้า D
ไม่สามารถควบคุมว่า มีการสวมสิทธิ โดยการนำเข้าสินค้า D (ที่อาจไม่ใช่รายการที่ว่าจ้างผลิต) เข้ามา เพื่อการจำหน่ายหรือไม่
2) การแก้ไขสูตรการผลิตสินค้า D โดยมีวัตถุดิบเป็น D
เป็นลักษณะเดียวกับสูตรการผลิตแบบ IPO (ซื้อมาขายไป) ไม่สามารถควบคุมว่าวัตถุดิบ D เป็นรายการเดียวกับที่ว่าจ้างผลิตหรือไม่
ความเห็นของแอดมิน จึงคิดว่าไม่น่าจะทำได้
วิธีอื่นที่อาจเป็นไปได้ คือ
นำขั้นตอนที่ 3 ไปว่าจ้างต่างประเทศให้ผลิตเป็นสินค้า D
แล้วให้ผู้รับจ้าง ส่งสินค้า D ไปยังลูกค้าของผู้ว่าจ้าง
โดยผู้ว่าจ้างไม่ต้องนำสินค้า D กลับเข้ามาในประเทศ ครับ
เพิ่มเติม
แต่หากบริษัทได้รับส่งเสริมในกิจการ ITC ด้วย
อาจมีวิธีคือ
1. บัตรกิจการผลิต แก้ไขโครงการ เพื่อยกเลิกขั้นตอนผลิตที่ 3 และแก้ไขชนิดผลิตภัณฑ์จาก D เป็น C
- เมื่อส่ง C ไปว่าจ้างต่างประเทศผลิต ถือเป็นการจำหน่ายสินค้าตามโครงการ
2. หลังจากผู้รับจ้างต่างประเทศผลิตเป็น D
ผู้ว่าจ้าง นำสินค้า D เข้ามาโดยใช้สิทธิตามบัตร ITC ครับ
ขอสอบถามอีกครั้งนะคะ
ก็คือทุกกระบวนการขั้นตอนการผลิตยังมีอยู่ที่ไทยทุกขั้นตอนตามที่ได้รับอนุมัติ แต่จะมีงานประมาณ 50 กว่ารุ่นที่นำไปประกอบที่ต่างประเทศ โดยรุ่นที่จะส่งไปประกอบที่ต่างประเทศ จะส่งออก 1. ชิ้นงานที่ผลิตโดยขั้นตอนที่ 1-2 แล้ว 2. วัตถุดิบ ที่จะนำไปประกอบเข้ากับงานที่ส่งไปประกอบ จะถูกบรรจุส่งออกไปด้วยกัน หรืออาจจะส่งออกวัตถุดิบไปก่อน ซึ่งวัตถุดิบก็นำเข้ามาโดยใช้สิทธิ BOI
คำถาม
1. ถ้าเป็นลักษณะเช่นนี้ ทางไทยต้องแก้ไขโครงการ แก้ไขกรรมวิธีการผลิต ใช่ไหมคะ ถ้าแก้ไขได้ สามารถแก้ไขได้ลักษณะนี้ไหมคะ
เดิมที่ได้รับ"ประกอบเข้าอุปกรณ์ต่างๆเช่น xxx , xxx เป็นต้น "
ขอแก้ไขใหม่ "ประกอบเข้าอุปกรณ์ต่างๆเช่น xxx , xxx เป็นต้น บางส่วนจะนำวัตถุดิบไปว่าจ้างต่างประเทศประกอบ แล้วนำกลับ"
2. ผู้ว่าจ้าง นำสินค้า D เข้ามาโดยใช้สิทธิตามบัตร ITC ครับ : ค่ะ ทางบริษัท สามารถขอเพิ่ม max_stock ได้อีกหรือไม่คะ
สรุปคำถาม โดยขอยกตัวอย่างใหม่ ดังนี้
(หากไม่ถูกต้อง ช่วยแจ้งให้ทราบด้วยครับ)
บริษัทได้รับส่งเสริมผลิตสินค้า X ปีละ 1,000 เครื่อง โดยมีขั้นตอนผลิตคือ
- ขั้นตอนที่ 1 นำเข้าวัตถุดิบ A มาผลิตเป็น B
- ขั้นตอนที่ 2 ประกอบ B กับชิ้นส่วนอื่น เช่น C, D, ... เป็นสินค้า X
บริษัทต้องการแก้ไขโครงการ โดย
- สินค้าบางรุ่น จะนำขั้นตอนที่ 2 ไปว่าจ้างผลิตในต่างประเทศ เป็นสินค้า X
- การนำไปว่าจ้าง จะมีทั้งการส่ง B, C, D ... ไปในกล่องเดียวกัน (จัดชุด) หรือแยกส่งตามรายการนั้นๆ
- จะมีการส่งเครื่องจักรที่ใช้ในขั้นตอนการประกอบ (ขั้นตอนที่ 2) ไปให้ผู้รับจ้างในต่างประเทศด้วย
- สินค้าที่ว่าจ้างประกอบเสร็จแล้ว (สินค้า X) จะนำกลับเข้ามา เพื่อส่งออก หรือจำหน่ายในประเทศ ต่อไป
ความเห็นของแอดมิน วิธีที่น่าจะเข้าใจง่ายและไม่ซับซ้อน คือ
1. ขอแก้ไขโครงการ เพื่อแก้ไขชนิดผลิตภัณฑ์และกำลังผลิต เป็นดังนี้ (ตัวเลขสมมุติ)
- ผลิต X ปีละ 600 ชิ้น และ B ปีละ 400 ชิ้น ..... คือ ลดกำลังผลิตของ X เพื่อปันส่วนเป็นกำลังผลิต B ตามปริมาณที่คาดว่าต้องการส่งไปว่าจ้าง
2. แก้ไขกรรมวิธีผลิตในขั้นตอนที่ 1 เป็น
- นำเข้าวัตถุดิบ A มาผลิตเป็น B บางส่วนนำไปจำหน่าย
3. เครื่องจักรในขั้นตอนที่ 2 จะเกินความต้องการ (เกินกำลังผลิตที่แก้ไขใหม่)
เครื่องจักรส่วนที่เกินนี้ สามารถขอส่งคืนไปต่างประเทศ โดยไม่มีภาระภาษี เพื่อส่งไปให้ผู้รับจ้างในต่างประเทศได้
4. สูตรการผลิต X ไม่ต้องแก้ไขอะไร
แต่อาจมีบางโมเดล ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ต่อ ซึ่งสามารถขอยกเลิกสูตรนั้นๆได้
5. ขออนุมัติสูตร B
6. max stock ของ C, D, .... จะถูกปรับลดลง เนื่องจากกำลังสินค้า X ลดลง
7. max stock ของ A ยังคงเท่าเดิม
8. การส่ง B ไปว่าจ้างประกอบต่างประเทศ ถือเป็นการจำหน่าย B ตามโครงการ
เมื่อส่งออก สามารถตัดบัญชีตามสูตร B ได้ตามปกติ
9. การส่งออก B, C, D,... แบบจัดชุด จะทำไม่ได้ เนื่องจากไม่ตรงกับผลิตภัณฑ์ที่แก้ไขใหม่
10. การส่งออก C, D,... สามารถทำในข่ายขอส่งวัตถุดิบไปต่างประเทศ แต่ต้องยื่นขออนุมัติเป็นครั้งๆ
11. การนำ X ที่ผู้รับจ้างประกอบเสร็จแล้ว กลับเข้ามาในประเทศ จะไม่เกี่ยวกับโครงการนี้แล้ว (non-BOI)
แต่ตามข้อมูลที่ได้รับแจ้ง บริษัทได้รับส่งเสริมในกิจการ ITC ด้วย
อาจสามารถประยุกต์ขั้นตอน 1-11 โดยใช้ประโยชน์จากบัตร ITC ได้ เช่น
12. บัตรกิจการผลิต ส่งออก B ให้กับผู้รับจ้างในต่างประเทศ
13. บัตร ITC นำเข้า C,D,... แล้วส่งออกให้ผู้รับจ้างในต่างประเทศ
14. (หรือ) บัตรกิจการผลิต จำหน่าย B ให้กับบัตร ITC / จากนั้น บัตร ITC นำไปจัดชุดเป็น (B, C, D,...) เพื่อส่งอก
แต่วิธีนี้จะมีผลกระทบหลายด้าน ควรศึกษาให้รอบคอบก่อน
15. บัตร ITC นำเข้าสินค้า X จากผู้รับจ้างประกอบในต่างประเทศ เพื่อนำไปจำหน่ายต่อไป ครับ