เรียน Admin,
เนื่องจากว่า บริษัทฯ จะมีการควบรวมกิจการ กับบริษัทในเครือ และ จะกลายเป็นบริษัทใหม่ เลขที่นิติบุคคลใหม่ วันที่มีผลคือ 1 กค 2565
ทั้งสองบริษัทเป็นบริษัทที่ได้รับการส่งเสริม และ ใช้สิทธิ์เครื่องจักร (ไม่ใช้สิทธิวัตถุดิบ)
บริษัทจะยื่นเรื่องกับ BOI ก่อนวันมีผล ( 1 กค 2565 ) ล่วงหน้า 3 เดือน
คำถามคือ 1. รายการเครื่องจักร และข้อมูลทั้งหมดที่อยู่ใน EMT จะต้องทำอย่างไรบ้าง
2.การรายงาน ผ่านระบบ e-minitoring (ตส 310 ) ที่จะต้องรายงานภายในเดือน กค จะสามารถดำเนินการอย่างไรคะ
ขอเรียนสอบถาม Admin 2 ประเด็นค่ะ
ขอบคุณมากค่ะ
กรณีการรวมกิจการ (A และ B รวมกิจการเป็น C)
1. หาก C ได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 28 และระยะเวลานำเข้าเครื่องจักรยังไม่สิ้นสุด
- สามารถยื่นขออนุมัติบัญชีเครื่องจักร เฉพาะในส่วนที่ยังนำเข้าไม่ครบตามโครงการ
- ไม่ต้องยื่นขออนุมัติบัญชีของเครื่องจักรที่นำเข้ามาแล้วโดย A และ B
- หากจะต้องดำเนินการเกี่ยวกับเครื่องจักรที่นำเข้ามาโดยใช้สิทธิของ A และ B เช่น ส่งคืน ส่งซ่อม ให้ยื่นขออนุมัติในข่าย "เครื่องจักรนอกระบบ"
2. การรายงานฐานะการเงินและผลการดำเนินการ ให้ยื่นตามเงื่อนไขที่กำหนด คือ ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม ของปีถัดไป ทุกรอบปีบัญชี ครับ
เรียน Admin,
ข้อมูลจาก EMT ที่เป็นของนิติบุคคลเดิม จะถูกล้างออกไปหรือไม่คะ
ตามที่ Admin ให้คำแนะนำด้านบน หากบริษัทต้องการจะนำเครื่องจักร (ที่สั่งปล่อยจากระบบนิติบุคคลเก่า) ออกไปซ่อม หรือ ตัดบัญชีรายการเครื่องจักรนำเข้าครบ 5 ปี บริษัทจะต้องกรอกสั่งปล่อยแบบนอกระบบก่อน แล้วถึงจะสามารถ ตัดบัญชี , จำหน่าย,บริจาค ได้ ถูกต้องไหมคะ
2. ทั้งสองนิติบุคคลเก่าอยู่ระหว่างขอรับการส่งเสริมโครงการใหม่ทั้งคุ่ ซึ่งจะทราบผลภายในปลายปี้นี้ ( 2564) หาก ต้นปีหน้า 2565 ระหว่าง กพ-เมย คีย์ขออนุมัติบัญชีรายการเครื่องจักร ซึ่งใช้นิติบุคคลเดิม แล้ว ได้รับอนุมัติรายการบัญชีเครื่องจักร พค จากนั้น กค ใช้เลขนิติใหม่ กรณีข้อมูลรายการบัญชีเครื่องจักรนี้จะเป็นอย่างไรคะ จะถูกดึงไปนิติใหม่เลยเหรอไม่คะ
3. ระหว่างนั้น หากมีการนำเข้าเครื่องจักร สามารถสงวนสิทธิได้หรือไม่
ขอรบกวนปรึกษา Admin เพื่อวางแผนงานค่ะ
ขอบคุณมากค่ะ
1. ข้อมูลเครื่องจักรที่นำเข้าโดย A และ B จะยังถูกเก็บในระบบ eMT แต่จะไม่สามารถเรียกใช้เพื่อดำเนินการได้ เนื่องจากบัตร A และ B จะถูกยกเลิกหลังการรวมกิจการ
ดังนั้น หาก C จะดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับเครื่องจักรดังกล่าว จะต้องนำมาใช้แบบนอกระบบ
"นอกระบบ" ในที่นี้หมายความว่า C ไม่สามารถเรียกข้อมูลของเครื่องจักรที่นำเข้าโดย A และ B โดยตรงผ่านระบบ eMT โดยตรง จึงต้องยื่นหลักฐานเป็นเอกสาร pdf แทนการดึงข้อมูลจากระบบ แต่ทั้งนี้ ในการยื่นคำร้องต่างๆ ยังคงยื่นผ่านระบบ eMT แล้วเลือกเมนูในหัวข้อ "เครื่องจักรนอกระบบ"
คำแนะนำ C จึงควรประสานงานกับสมาคม IC ล่วงหน้า เพื่อขอดาวน์โหลดข้อมูลต่างๆ ของ A และ B มาเก็บไว้ เพื่อใช้อ้างอิงในภายหลังต่อไป
2. หาก A และ B ยื่นขออนุมัติบัญชีเครื่องจักรในเดือน กพ - เมย 65 จากนั้นรวมกิจการเป็น C และนำเข้าเครื่องจักรหลังรวมกิจการ
C จะไม่สามารถสั่งปล่อยเครื่องจักรโดยใช้บัญชีที่ได้รับอนุมัติโดย A และ B ได้ โดย C จะต้องยื่นขออนุมัติบัญชีเครื่องจักรอีกครั้งหนึ่ง
ดังนั้น A และ B จึงไม่จำเป็นต้องยื่นขออนุมัติบัญชีเครื่องจักร แต่ให้ยื่นขอบัญชีโดย C แทน
แต่มีข้อควรระวังคือจะต้องไม่นำเข้าเครื่องจักรในนาม C ก่อนวันยื่นคำขอรับการส่งเสริมรวมกิจการ เนื่องจากจะขอขยายเวลานำเข้าย้อนหลังเพื่อยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรที่นำเข้าก่อนวันยื่นคำขอรับการส่งเสริมรวมกิจการไม่ได้
3. คำถามไม่ชัดเจนว่าจะสงวนสิทธิเครื่องจักรที่จะนำเข้าในนามบริษัทใด และนำเข้าในช่วงใด
- หากนำเข้าในนามของ A หรือ B ก่อนที่จะรวมกิจการเป็น C --> จะเป็นไปตามคำตอบในคำถามก่อนหน้านี้ คือ ระบบจะบันทึกข้อมูลการนำเข้าเป็นของ A หรือ B ซึ่ง C จะไม่สามารถจะดึงข้อมูลไปใช้ในภายหลังได้โดยตรง ครับ
ขอเรียนสอบถามเพิ่มเติมในกรณีที่บริษัท นำเข้าเครื่องจักรโดยการสงวนสิทธิในนาม A และ B ภายหลังจะสั่งปล่อยแบบขอคืนอากรภายใต้ C จะต้องดำเนินการอย่างไรคะ
การสั่งปล่อยคืนอากรสำหรับวัตถุดิบและเครื่องจักร ปัจจุบันเป็นระบบ Auto approve แต่มีข้อแตกต่างกันดังนี้
1.วัตถุดิบ
- สมาคม IC จะดาวโหลดข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าจากกรมศุลกากร
- หากเลขนิติบุคคลของผู้นำเข้า เลขที่ใบขนสินค้าขาเข้า รายการวัตถุดิบที่นำเข้า ปริมาณที่นำเข้า ในใบขนสินค้าขาเข้า ตรงกับข้อมูลที่ผู้ได้รับส่งเสริมยื่นขอใช้สิทธิสั่งปล่อยคืนอากร ระบบจะอนุมัติโดยอัตโนมัติ และแจ้งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ไปยังกรมศุลกากร
ดังนั้น หากนำเข้าวัตถุดิบในนาม A แต่จะขอสั่งปล่อยคืนอากรในนามของ C จะไม่สามารถดำเนินการได้
2.เครื่องจักร
- ระบบจะตรวจสอบข้อมูลที่บริษัทยื่นขอสั่งปล่อยคืนอากร โดยเปรียบเทียบกับบัญชีรายการเครื่องจักรที่บริษัทนั้นได้รับอนุมัติ หากข้อมูลถูกต้อง ระบบจะอนุมัติโดยอัตโนมัติ และแจ้งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ไปยังกรมศุลกากร
เรื่องที่บริษัทสอบถาม เป็นกรณีของเครื่องจักร ที่นำเข้ามาโดยชำระภาษีสงวนสิทธิ โดยระบุเลขที่นิติบุคคลของผู้นำเข้าเป็นของบริษัท A แต่ยื่นขอสั่งปล่อยคืนอากรในนามของบริษัท C ซึ่งเกิดจากการรวมกิจการระหว่าง A กับ B จึงมีเลขที่นิติบุคคลของผู้ยื่นใช้สิทธิสั่งปล่อย ไม่ตรงกับเลขนิติบุคคลของผู้นำเข้าตามใบขนสินค้า
กรณีนี้ระบบจะตรวจสอบกับบัญชีรายการเครื่องจักรของ C ซึ่งหากเป็นรายการที่สามารถสั่งปล่อยคืนอากรได้ ก็จะแจ้งอนุมัติไปยังกรมศุลกากร แม้จะมีเลขนิติบุคคลไม่ตรงกันก็ตาม
จากนั้นการพิจารณาคืนอากร จะเป็นการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ของกรมศุลกากรว่าอยู่ในข่ายให้คืนอากรขาเข้าหรือไม่
ดังนั้น คำแนะนำคือ บริษัทควรวางแผนในการรวมกิจการ และการนำเข้าเครื่องจักร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว
หรือหากนำเข้าเครื่องจักรเข้ามาแล้วในนามของ A ก็ควรยื่นขออนุมัติบัญชีเครื่องจักร และสั่งปล่อยคืนอากรในนามของ A ให้เสร็จสิ้นก่อน จึงทำการรวมกิจการ ครับ
ขอบพระคุณ Admin มากๆเลยค่ะ
เรียนสอบถาม Admin เพิ่มเติมค่ะ
ในกรณีที่บริษัทฯยื่นขออนุมัติรายการบัญชีเครื่องจักร ของนิติบุคคลเดิม และ ได้รับอนุมัติแล้ว
1.กรณี ยังไม่มีการนำเข้าเครื่องจักร (ยังไม่ได้สั่งปล่อย) หลังจากการควบรวมกิจการแล้วเสร็จ บริษัทฯต้องกรอกคำขออนุมัติรายการเครื่องจักรเดิม ( ที่เคยได้รับอนุมัติจากนิติบุคคลเดิม )เข้าไปใหม่ ถูกต้องไหมคะ ระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่ใช้พิจารณาอนุมัติจะใช้เวลากี่วันทำการคะ
2.กรณี ที่ได้รับอนุมัติรายการบัญชีเครื่องจักร และสั่งปล่อยบางรายการนำเข้ามาแล้ว ภายใต้นิติบุคคลเดิม ภายหลังมีการควบรวมกิจการ กรณีนี้จะต้องดำเนินการอย่างไรต่อคะ
ขอรบกวนสอบถามค่ะ
ขอบคุณค่ะ
ตอบคำถามดังนี้
1. บริษัทที่เกิดจากการรวมกิจการ จะต้องยื่นขออนุมัติบัญชีเครื่องจักร (เฉพาะรายการที่ยังไม่ได้นำเข้าและต้องการใช้สิทธิยกเว้นภาษี) แม้ว่าจะเป็นรายการที่เคยขออนุมัติไว้แล้วในบัญชีเก่าของโครงการก่อนรวมกิจการก็ตาม
ระยะเวลาอนุมัติบัญชีเครื่องจักร กำหนดไว้ไม่เกิน 60 วันทำการ แต่หากข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์ และไม่ต้องพิจารณาในประเด็น Negative List ส่วนใหญ่จะใช้เวลาไม่นานนัก เช่น ประมาณ 2 สัปดาห์
2. คำถามไม่ชัดเจนว่าต้องการสอบถามในประเด็นใด
แต่การที่จะมีการสั่งปล่อยเครื่องจักรบางส่วนในโครงการ A และ B (ซึ่งต่อมารวมกิจการเป็น C) และสั่งปล่อยเครื่องจักรส่วนที่เหลือในโครงการ C เป็นเรื่องที่สามารถทำได้
รวมถึงการขออนุญาตต่างๆเกี่ยวกับเครื่องจักรที่นำเข้าในโครงการ A เช่น จำหน่าย ส่งคืน ส่งซ่อม ฯลฯ ก็สามารถขออนุญาตภายใต้โครงการ C ได้ ตามตัวอย่างที่ตอบไว้ในคำตอบ #3 ข้อ 1 ครับ
เรียน Admin,
ขอสอบถามเพิ่มเติมในส่วนของระบบ EMT
1.หลังการควบรวมกิจการแล้วเสร็จ นิติบุคคลใหม่จะต้องลงทะเบียนเข้าใช้งานระบบ EMT ของนิติบุคคลใหม่ ถูกต้องไหมคะ
2.หากมีการดำเนินการใดๆเกี่ยวกับเครื่องจักร เช่น ส่งซ่อม ตัดบัญชีเครื่องจักรฯ ซึ่งเคยนำเข้ามาภายใต้นิติบุคคลเดิม นิติบุคคลใหม่จะต้องยื่นขอส่งซ่อม ,ตัดบัญชี แบบนอกระบบ แนบบหลักฐานจาก file pdf ที่ขอดาวน์โหลดล่วงหน้า เพื่อยืนยันว่า เป็นเครื่องจักรจากการสั่งปล่อยในบัตรส่งเสริมใด เลขที่โครงการใด ถูกต้องไหมคะ
3.หากมีการส่งปล่อยแบบสงวนสิทธิ์เข้ามาภายใต้นิติบุคคลเดิม ภายหลังควบรวม นิติบุคคลใหม่ขอยื่นอนุมัติบัญชีเครื่องจักร และ ได้รับการอนุมัติจากสำนักงาน BOI
นิติบุคคลใหม่สามารถยื่นเรื่องขอคืนอากรจากระบบ EMT ได้ แต่สุดท้ายแล้วการพิจารณาคืนอากรจะอยุ่ในการพิจารณาของกรมศุลกากร ถูกต้องไหมคะ
ขอเรียนสอบถามเพิ่มเติมคะ
ขอบคุณมากค่ะ
โดยหลักการแล้ว ถูกต้องทั้ง 3 ข้อ โดยขอขยายความดังนี้
2. ในการพิจารณาอนุญาตต่างๆเกี่ยวกับเครื่องจักร เช่น ส่งคืน ส่งออก จำหน่าย ฯลฯ
จนท BOI ต้องมีข้อมูลว่า (1)เครื่องจักรดังกล่าวนำเข้าโดยใช้สิทธิ BOI ของโครงการนั้น หรือ (2)นำเข้าโดยใช้สิทธิ BOI ของโครงการอื่น แต่ต่อมาได้รับอนุญาตให้โอนมาเป็นเครื่องจักรของโครงการนั้น
แต่เนื่องจาก BOI ไม่สามารถเรียกดูข้อมูลจากระบบ eMT ได้โดยตรง บริษัทจึงต้องส่งเอกสารหลักฐานเพื่อแสดงข้อมูลตาม (1) แนบ (2) --> ซึ่งเรียกว่าเป็นการขอดำเนินการเครื่องจักรที่ไม่สามารถเรียกดูข้อมูลจากในระบบ = เครื่องจักรนอกระบบ
ดังนั้น นอกจากวิธีการดาวน์โหลดข้อมูลของ A และ B มาเก็บไว้ล่วงหน้า อาจใช้วิธีอื่นที่เหมาะสมแล้วแต่กรณี เช่น ยื่นสำเนาใบขนอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักฐานประกอบสำหรับกรณี (1) และสำเนาหนังสืออนุญาตให้รับโอนเครื่องจักรสำหรับกรณี (2) ก็ได้
3. จากการสอบถามผู้ที่เคยมีประสบการณ์ ได้รับคำตอบว่า กรณีตามข้อ 3 แม้อาจจะทำได้ แต่มีขั้นตอนที่ยุ่งยากมาก หากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงโดยเด็ดขาด
ตลอดจน BOI เอง ก็ได้แนะนำให้บริษัททุกรายที่ยื่นขอรับการส่งเสริมเพื่อรับโอนกิจการ (ทั้งจากการรวมกิจการ ควบกิจการ และโอนโครงการ) ให้ดำเนินการสั่งปล่อยคืนอากร หรือสั่งปล่อยถอนประกัน ภายใต้ชื่อของบริษัทเดิมที่มีชื่อเป็นผู้นำเข้าเครื่องจักร ให้เสร็จสิ้นก่อนที่บัตรส่งเสริมฉบับเดิมจะสิ้นสุดลง
คำแนะนำตามข้อ 3 ของแอดมิน ยังคงเป็นตามคำตอบที่ #5
คือ หากนำเข้าเครื่องจักรเข้ามาแล้วในนามของ A ก็ควรยื่นสั่งปล่อยคืนอากร/หรือสั่งปล่อยถอนค้ำประกัน ในนามของ A ให้เสร็จสิ้นก่อน
แต่ถ้ายังไม่ได้นำเข้าเครื่องจักร ก็ควรชลอแผนการนำเข้า จนกว่าจะรวมกิจการเป็น C เสร็จแล้ว และนำเข้าในนามของ C ครับ
เรียน Admin,
ขอบคุณ Admin มากๆค่ะ
เรียน Admin,
ขอเรียนสอบถามเพิ่มเติมในส่วนของ EMT ค่ะ หลังการควบรวมแล้วเสร็จ บริษัทได้บัตรส่งเสริมฉบับใหม่แล้ว
จะต้องดำเนินการอย่างไรต่อในส่วนการใช้งานในระบบ EMT ค่ะ บริษัทจะต้องติดต่อที่ IC หรือว่า ต้องมีเอกสารใดบ้างในการแจ้งกับ IC สามารถศึกษาวิธีการได้จากที่ไหนบ้างคะ
ขอเรียนสอบถามค่ะ
ขั้นตอนเหมือนกับการเป็นบริษัทที่ได้รับบัตรส่งเสริมครั้งแรก คือ
1. สมัครใช้บริการระบบ eMT Online
2. ยื่นแบบฟอร์มต่างๆ ต่อสมาคม IC และขอรับ username และ password เพื่อเข้าใช้ระบบ
3. ยื่นขออนุมัติบัญชีรายการเครื่องจักร ฯลฯ
รายละเอียดดูได้จาก บริการระบบ eMT Online ของสมาคม IC ครับ
ขอบคุณมากค่ะ